เมื่อวันที่ 25 ก.พ.เวลา 10.00 น. มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ได้พิจารณา ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่....) พ.ศ..... ซึ่งแก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มหมวดใหม่ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ วันที่สอง โดยที่ประชุมได้พิจารณาว่าด้วยการกำหนดลักษณะต้องห้ามบุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งกมธ. มีการแก้ไขถ้อยคำเล็กน้อย โดยไม่เกี่ยวกับสาระสำคัญ ทั้งนี้มี สมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล ขอแปรญัตติแก้ไขลักษณณะต้องห้ามโดยตัดลักษณะต้องห้าม ว่าด้วย นักพรต นักบวช สามเณร หรือภิกษุ ออก เพื่อให้กลุ่มดังกล่าวสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.ร. ได้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการประท้วงวุ่น เหตุนางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้เสนอคำแปรญัตติ เกี่ยวกับข้อห้ามกลุ่มบุคคลที่เคยได้รับแต่งตั้งตามประกาศ คำสั่ง ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือ คำสั่งของหัวหน้า คสช.ห้ามสมัครเป็น ส.ส.ร.พร้อมอภิปรายแสดงเหตุผลว่า เป็นผู้ไม่ยึดมั่นต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ผู้เขียนรัฐธรรมนูญ ปี 60 แม้จะเป็นนักวิชาการที่มีความรู้ แต่เมื่อมีที่มาไม่เป็นประชาธิปไตย ทำให้รัฐธรรมนูญไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน ก่อให้เกิดผลไม้พิษ เหมือนกับการบังคับแต่งงานเหมือนคลุมถุงชน ที่มีแต่ความหลอกลวง ขจัดไปให้พ้นทางและไม่ให้มีส่วนร่วมกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ “ครั้งที่มารครองเมืองเรืองอำนาจ ใช้มาตรา 44 จัดการกับคนทุกคนที่ไม่สยบยอม และตั้งสนช., สปท., กรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ, คสช. และครม. เมื่อสลายแล้วได้ไหลมาเป็นส.ว. 134 คน ส่วนอีกกว่า 500 คนกังวลมาร่วมสถาปานารัฐธรรมนูญใหม่” นางอมรัตน์ กล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานว่านางอมรรัตน์ได้เปิดคลิบแม่น้ำ 5 สายสมัยคสช.นำมาเปิดด้วย ทำให้นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. ประท้วงนางอมรัตน์ ว่า การนำภาพดังกล่าวได้ขออนุญาตแล้วหรือยัง และตนขอแถมข้อห้ามไว้ด้วยว่า ห้ามคนที่คิดล้มล้างสถาบัน นักโทษหนีคดี เช่น โกงจำนำข้าว และห้ามคนที่หลบหลังม็อบเพิ่มเติมด้วย ขณะที่นายนิยม เวชกามา ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นประท้วงขอให้นายกิตติศักดิ์ ใส่ร้าย ทราบได้อย่างไรว่ามีการโกงจำนำข้าว ดังนั้นขอให้ถอน โดยพล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว. ฐานะ กมธ.ฯ ชี้แจงว่า ความเห็นของนางอมรัตน์นั้นเป็นเพียงความเห็นต่างได้ แต่ไม่ได้อยู่ในการพิจารณาของกมธ. ดังนั้นกมธ. ขอยืนตามเนื้อหาที่เสนอต่อรัฐสภา ส่วนนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ฐานะกมธ. ชี้แจงว่า เป็นความเชื่อและความคิดเห็นที่อ้างว่า ส.ว.250 คน ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แสดงว่าต้องการให้เกิดความขัดแย้ง หรือ ความไม่พอใจในฝั่งของส.ว. เพื่อให้ส.ว.ชุดปัจจุบัน ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไข สิ่งที่เสนอให้เหตุผล ข้อมูล เป็นความรังเกียจ กลุ่มคน ทั้งที่การเขียนรัฐธรรมนูญต้องใช้เหตุผล ความเป็นผู้ใหญ่ คนที่จะอยู่ในตำแหน่งใด ไม่คำนึงความอคติ หรือไม่ชอบ จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติเห็นด้วยกับการแก้ไขของกมธ. 537 ต่อ 50 เสียง งดออกเสียง 17 เสียง