“บิ๊กตู่” ขอบคุณรัฐบาลจีน ส่งมอบวัคซีนโควิดล็อตแรกถึงไทย 2แสนโดส ยันรัฐบาลเดินหน้าฉีดวัคซีนตามแผน วอนสังคมหยุดสร้างความขัดแย้ง ด้าน“รมว.ท่องเที่ยว” เผย 1 แสนโดสกระจาย จนท.โรงแรม 5 จัง หวัดท่องเที่ยว ส่วน “โควิดไทย” ติดเชื้อเพิ่มอีก 93 ราย รวมป่วยสะสม 25,692 ราย ที่เขตปลอดอากร และคลังสินค้า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อเวลา 10.05 น. วันที่ 24 ก.พ.64 พล.อ.ประ ยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากสาธารณรัฐประชา ชนจีน “วัคซีนโควิด-19 คืนรอยยิ้ม ประเทศไทย” ขนส่งโดยเที่ยวบินขนส่งสินค้า TG 675 เส้นทางปักกิ่ง–กรุงเทพ มหานคร เป็นวัคซีนล็อตแรก จำนวน 200, 000 โดส น้ำหนัก 2.6 ตัน ซึ่งเป็นวัคซีนจาก บริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค จำกัด และวัคซีนจากบริษัทแอสต้าเซเนก้า จำนวน 117,000 โดส โดยมีสื่อมวลชนทั้งไทย และ ต่างประเทศจำนวนมากให้ความสนใจเผยแพร่พิธีการรับวัคซีนอย่างคึกคัก ทั้งนี้ นายกฯ กล่าวว่า“วันนี้ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ ในการรับวัคซีนล็อตแรก ซึ่งรัฐบาลพยายามอย่างยิ่ง ในการจัดกาวัคซีนให้ได้ตามกำหนด ผมกราบเรียนว่า ไม่ว่าจะวัคซีนล็อตไหนก็ตาม เป็นวัคซีนของคนไทยทั้งประเทศ และต้องขอบคุณสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่พิจารณาส่งวัคซีนให้เราในเดือนนี้ และในงวดต่อๆไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ จากนั้นก็เป็นเรื่องของหน่วยงานที่จะพิจารณาเรื่องการฉีด ขอเรียนว่าวัคซีน ได้มีการทดสอบคุณภาพมาแล้ว เพียงแต่อาจต้องมีการเตรียมดูในเรื่องการขนย้ายว่าจะมีปัญหาอะไรบ้างหรือไม่ ผมไม่อยากให้สังคม มีความขัดแย้งกันอีกในเรื่องวัคซีน เราต้องมีความเป็นหนึ่งเดียวในการที่จะแก้ปัญหาประเทศ” นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ให้สัมภาษณ์ถึงการฉีดวัคซีนสำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศ ว่า เรื่องนี้จะจัดวัคซีนส่วนหนึ่งให้กับโรงแรมที่เสนอตัวเป็นพื้นที่กักตัว ซึ่งโรงแรมจะฉีดวัคซีนให้กับพนักงานต้อนรับทุกคนทั้งหมดในโรงแรม และมีการจัดสรรเอาไว้แล้ว โดยวัคซีนที่มาถึงวันนี้จะจัดสรรไปให้กับ 5 จังหวัดท่องเที่ยวคือ เชียงใหม่ ชลบุรี ภูเก็ต กระบี่ เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี โดยจะได้รับในล็อตแรกและล็อตที่ 2 จังหวัดละหมื่นคน เท่ากับ 2 หมื่นโดส รวมทั้งหมด 1 แสนโดส เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยว ซึ่งนักท่องเที่ยวที่จะมากักตัวในโรงแรมจะเป็นโครงการที่เราเสนอ ซึ่ง ศบค.และกระทรวงสาธารณสุขคาดว่าขั้นตอนเมื่อนักท่องเที่ยวมาแล้วจะให้กักตัวในห้องพักเป็นเวลา 3 วัน หลังจากนั้นจะอนุญาติให้ออกมาอยู่ในโรงแรมได้ แต่นักท่องเที่ยวต้องปฏิบัตตามข้อกำหนดของ ศบค.และ กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เมื่อถามถึงกรณี นายกฯ ระบุว่า จะให้นักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนเข้าประเทศโดยไม่ต้องกักตัว นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ต้องดูความเหมาะสม และต้องดูว่าคนไทยจะได้วัคซีนเท่าไหร่ภายในสิ้นปีนี้ และต้องดูว่ากรมอนามัยได้ออกวัคซีนพาสปอร์ตออกมาหรือยัง ถ้าออกมา และมีการรับรองแล้วก็ต้องนำเรื่องเข้า ศบค. เพื่อพิจารณาว่ามีข้อขัดข้องหรือไม่ แต่คาดว่าเรื่องนี้จะดำเนินได้ในช่วงไตรมาสสาม ด้าน ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ซึ่งล่าสุดพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อีก 93 ราย แบ่งเป็นการติดเชื้อภายในประเทศ 71 รายและติดเชื้อจากต่างประเทศ 22 ราย ทั้งนี้การคัดกรองเชิงรุกมีรายงานผู้ติดเชื้อแล้ว 14,460 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสม 25,692 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่ม สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ทางการสิงคโปร์กำลังทดสอบมาตรการ “ฟองอากาศทางธุรกิจ (Bubble for business)” เพื่อให้บรรดานักธุรกิจต่างชาติ สามารถเดินทางมาติดต่อกับธุรกิจกับเหล่านักธุรกิจชาวสิงคโปร์ได้โดยที่ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการกักตัว 14 วัน หลังจากที่ต้องระงับการดำเนินธุรกิจร่วมกันไปในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่ผ่านมา โดยมาตรการดังกล่าว ทางการสิงคโปร์จะใช้อาคารแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากท่าอากาศยานนานาชาติชางงี ถูกจัดแยกพื้นที่เป็นส่วนๆ และมีระบบปรับอากาศสำหรับนักธุรกิจต่างชาติที่เดินทางเข้ามา แยกส่วนต่างหากกับนักธุรกิจของสิงคโปร์ เป็นสถานที่ติดต่อเจรจาทางธุรกิจแบบซึ่งหน้า ผ่านระบบเทคโนโลยีต่างๆ เช่น เจรจาผ่านลำโพง เป็นต้น และมีกระจกใสกั้นกลาง นอกจานี้ ยังสามารถรับส่งเอกสารกันได้ โดยสิ่งของ หรือเอกสารที่ส่งผ่านไปมาระหว่างกันต้องผ่านการฆ่าเชื้อด้วยแสงอัลตราไวโอเล็ต โดยที่บรรดานักธุรกิจเหล่านั้นไม่ต้องกลัวว่าจะติดเชื้อไวรัสโควิดฯ ทั้งนี้ หากการทดสอบประสบความสำเร็จ ทางการสิงคโปร์ จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือน มี.ค.นี้ พร้อมทั้งคาดว่า เบื้องต้นจะสามารถรองรับนักธุรกิจต่างชาติได้ 150 คน และจะขยายเพิ่มเป็น 660 คน พร้อมกับเพิ่มสถานที่เป็น 170 ห้อง ภายในเดือน พ.ค.นี้ โดยกำหนดราคาห้องพักอยู่ที่ 290 ดอลลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 8,700 บาท) ต่อคืน ด้าน รัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี โยชิฮิเดะ ซูงะ กำลังพิจารณาขอความคิดเห็นจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนการหารือภายในคณะรัฐมนตรี เพื่อนำไปตัดสินใจขั้นสุดท้าย ภายหลังจากเกิดกระแสเรียกร้องจากภาคส่วนต่างๆ รวมถึงรัฐบาลท้องถิ่นของญี่ปุ่น ขอให้รัฐบาลกลางยกเลิกการประกาศบังคับใช้ประกาศภาวะฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19ภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นระยะเวลาก่อนกำหนดของการประกาศบังคับใช้ภาวะดังกล่าวสิ้นสุดลง รายงานข่าวแจ้งว่า กระแสเรียกร้องมีขึ้นภายหลังจากยอดผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิดฯ รายใหม่มีจำนวนลดลง โดยผลพวงจากประกาศภาวะฉุกเฉินดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจภาคส่วนต่างๆ ที่ต้องปิดให้บริการเร็วขึ้นตามข้อบังคับใช้ภาวะฉุกเฉิน ขณะที่ สถานการณ์เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ยังคงแพร่ระบาดอย่างหนักในพื้นที่ 219 ประเทศทั่วโลก ส่งผลให้มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสมจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 112,654,170 ราย ส่วนผู้ป่วยที่เสียชีวิตได้เพิ่มจำนวนเป็น 2,496,749 ราย และผู้ป่วยที่รักษาหายมีจำนวนสะสม 88,249,731 ราย โดยสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่มีจำนวนสะสมของผู้ป่วยติดเชื้อมากที่สุดในโลก 28,897,718 ราย ส่วนผู้ป่วยเสียชีวิตมีจำนวนมากที่สุดในโลกเช่นกันที่ 514,996 ราย และผู้ป่วยที่รักษาหายมีจำนวนสะสม 19,212,517 ราย