วันที่ 23 ก.พ.64 นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย พรรคก้าวไกล ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจแถลงการณ์จากปัญหาการโหวตสวนมติพรรค ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดย นพ.เอกภพโหวตไว้วางใจให้กับรัฐมนตรีฝั่งรัฐบาล ขัดกับจุดยืนของพรรคและฝ่ายค้าน โดยกล่าวช่วงหนึ่งระบุว่า
“ปัญหาเรื่องระบบโครงสร้างของพรรคก้าวไกลที่ให้มีทีมงานจังหวัดทำงานร่วมกับ ส.ส.ดูเหมือนจะดีครับ หากแต่ทีมงานจังหวัดไม่สอดประสานกับสิ่งที่พรรคต้องการขับเคลื่อน มีการใช้งบพรรคที่จัดสรรมาให้ทำกิจกรรมในพื้นที่ แต่ส่วนใหญ่หมดไปกับเบี้ยประชุม เบี้ยเลี้ยง ค่าเดินทาง ค่าน้ำมัน มากกว่าใช้กับกิจกรรมเพื่อส่งเสริมงานของพรรค และมีปัญหาอีกหลายประเด็นที่ผมคงไม่พูดถึงในวันนี้ครับ ซึ่งผมได้นำเสนอปัญหาข้อมูลต่างๆ ให้กับทางพรรคทราบโดยตลอด แต่ก็ไม่ได้มีการแก้ปัญหา มิหนำซ้ำหลายๆ กรณีก็ยังมีการให้ท้ายทีมจังหวัดโจมตีหรือทำงานตัดหน้าผมและ ส.ส.เขตคนอื่นด้วยซ้ำ
เหตุผลนี้ครับทำให้ ส.ส.เขตหลายคนมีความอึดอัดใจในการทำงานมาโดยตลอดและอาจเป็น 1 ในหลายเหตุผลมากกว่าข้อกล่าวหาง่ายๆ ที่จะกล่าวหาว่ารับเงิน ทำให้ ส.ส.เขตหลายคนเดินออกจากพรรคไปตลอดเวลาของการทำงาน ผมและ ส.ส.เขตหลายคนต้องต่อสู้เพียงเดียวดายในพื้นที่ สำหรับในเชิงประเด็นปัญหาชาวไร่ยาสูบ ผมต้องวิ่งเข้าออกหลาย กมธ.ประสานหลายหน่วยงานจนกว่าจะได้รับคำตอบชดเชยเยียวยาและยังมีการแก้ปัญหาสรรพสามิตบุหรี่ ไฟป่า น้ำ การติดตามการขยายเขตไฟฟ้า การทำถนนไปสู่ที่ทุรกันดารใน อ.เมืองเชียงราย สาธารณสุข ฯลฯ เรื่องเหล่านี้ผมต้องทำงานเพียงลำพังเนื่องจากไม่ใช่ประเด็นหลักที่พรรคให้ความสนใจ แม้กระทั่งการแก้ปัญหาโควิดที่หากเพียงแต่แค่พูดหรือวิจารณ์คงง่าย แต่ที่ผ่านมาผมได้ร่วมเข้าไปทำงานกับ สธ.ในทุกครั้งที่มีปัญหาเกิดขึ้นในเชียงราย”
“ประเด็นเรื่องการจำกัดสิทธิ ปชช.อย่าง ม.116 ก็ได้มีการผลักดันขับเคลื่อนให้มีการแก้ไขตั้งแต่สมัย พล.ท.พงศกรเป็น ปธ.กมธ.ความมั่นคง ซึ่งการขับเคลื่อนผ่าน กมธ.ซึ่งประกอบด้วยพรรคการเมืองหลายพรรคมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงมาก แต่เสียดายที่ไม่ได้รับการตอบสนองอย่างแข็งขัน ต่างจากการยื่นแก้ไข ม.112 ที่เร่งดำเนินการทั้งที่พรรคอื่นในสภาไม่เอาด้วย ซึ่งก็เท่ากับว่าการยื่นแก้ กม.ฉบับนี้ทำในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น ไม่สามารถขับเคลื่อนได้สำเร็จในบริบททางสังคมที่ความแตกแยกทางความคิดแบบสุดขั้วที่เป็นอยู่ในขณะนี้”
“โดยส่วนตัวของผมเองมองว่าที่เราเริ่มต้นมาเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราไม่ได้พูดถึงเลย และหลายๆ เรื่องเราปฏิเสธที่จะไม่ทำตั้งแต่ต้นการตั้งพรรคมาด้วยซ้ำ เราพูดถึงแค่การเปลี่ยนแปลงให้ทหารออกจากการเมือง การแก้ รธน. การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ โดยการปฏิรูปสถาบันไม่ได้เป็นสิ่งที่เราเคยตกลงกันในพรรคกันมาก่อนว่าจะทำอย่างไร และทำถึงขนาดไหน ซึ่งถ้าหากจะทำครับ ก็ควรจะมีข้อตกลงที่ชัดเจนก่อนว่าจะทำอะไร และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคืออะไร”
“หากเราจัดลำดับความสำคัญและเป็นไปตามสิ่งที่เป็นข้อตกลงร่วมกันในการเข้ามาทำงานกับพรรค #อนาคตใหม่ การแก้ไขให้ทหารออกจากการเมือง การปิดสวิตช์ ส.ว. การยกเลิกทุนผูกขาด พัฒนา สธ. การศึกษา และการกระจายอำนาจ เป็นสิ่งที่ควรเน้นควรทำก่อนหรือไม่? เสียดาย กม.อย่าง กม.ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร กม.คุ้มครองแรงงาน กม.บำนาญที่ถูกเบรกจากคุณประยุทธ์ก็ไม่ได้มีการผลักดันต่ออย่างแข็งขันทันที ยังมีอีกหลายเรื่องที่เป็นประเด็นภายในพรรคที่ผมยังคงรักพรรคที่ผมเริ่มเดินทางมาด้วยตั้งแต่ต้น ทำให้ผมไม่สามารถบอกกล่าวไปเพียงเพื่อจะทำให้ผมดูดีได้ครับ”
“เรื่องนี้ผมเชื่อว่าคนในพรรคต่างทราบดีว่าเรามีอะไรที่ต้องแก้ไขกันบ้าง เพื่อไม่ให้มีปัญหาเกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคต ซึ่งแน่นอนว่าพรรคการเมืองครับที่ต้องการเป็นพรรคมวลชนย่อมต้องมีปัญหาภายในบ้างอยู่แล้ว แต่หากมีการจัดการที่ดีและมีใจสมัครสมานสามัคคี เห็นทุกคนเป็นเพื่อน พี่น้อง เป็นญาติ ไม่ว่าปัญหาใหญ่แค่ไหนก็ดูเหมือนเล็กครับ ความต้องการหลักของเราคือการนำทหารออกจากการเมืองไม่ใช่หรือครับ? แก้ปัญหาระดับโครงสร้างไม่ใช่หรือครับ? เราเปลี่ยนจากพรรคที่ต้องการสร้างการเมืองใหม่ ต้องการนำสังคมหาฉันทามติใหม่มาเป็นพรรคที่โดดเดี่ยวตัวเอง และทำการขับเคลื่อนในเรื่องที่ไม่ใช่ประเด็นหลักที่เป็นความตั้งใจตั้งต้นของเรา”
“การกระทำที่ผมโหวตให้กับ รมว.ของพรรคภูมิใจไทยเป็นการกระทำที่ผมต้องการแสดงให้เห็นถึงจุดยืนและเรียกสติของสังคมว่าการเมืองควรร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง ที่จะผลักดันทหารออกจากการเมือง ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่ผมจะยกมือไว้วางใจคุณประยุทธ์ คุณประวิตร คุณอนุพงษ์ หรือคนจากพรรคที่มีความเกี่ยวโยงทหาร ดังนั้น การเลือกยกมือให้กับภูมิใจไทยถือว่าเป็นทางออกที่แสดงให้เห็นตามจุดยืน ตามหลักการที่เข้ามาในพรรค อนาคตใหม่ ให้ทุกคนได้เห็น”
“พรรคภูมิใจไทยนี้ไม่ใช่หรือครับในช่วงหลังเลือกตั้งเราเป็นผู้ไปชวนเขามาจัดตั้งรัฐบาล แต่พอเขาไม่เข้ามาร่วมเราก็เลยทำให้พรรคนี้กลายเป็นผู้ร้ายไปในทันที ในการเดินทางมาเชียงราย 2 ครั้ง เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาโควิดของ รมว.สธ.พร้อมทั้งผู้บริหารของกระทรวง ผมในฐานะผู้แทนของชาวเชียงรายก็นำตัวแทนของภาค ปชช. อสม.และภาคธุรกิจเข้าพบเพื่อเสนอปัญหาและความต้องการของชาวเชียงราย
ที่ผ่านมามีการนำเสนอภาพถ่ายที่ร้านข้าวต้มแห่งหนึ่งซึ่งถูกนำไปบิดเบือนจากข้อเท็จจริงเป็นอย่างมากครับ ส่วนกรณีภาพที่มีการนำเสนอข่าวการนั่งพูดคุยในสภาก่อนการลงมติไม่ไว้วางใจ ถ้าหากย้อนกลับไปดูได้ครับ เก้าอี้ตัวนั้นที่ผมนั่งคือเก้าอี้ประจำที่ผมไปนั่งทุกครั้งที่มีการประชุมสภา ซึ่งผมก็ไปนั่งตามปกติ และคณอนุทินเองก็เดินเข้ามาในขณะที่คุณมิ่งขวัญกำลังอภิปรายเกี่ยวกับตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดอยู่พอดี เขารู้ดีครับว่าผมติดตามเรื่องปัญหาโควิดมาตลอด ก็เลยพูดคุยกันเรื่องการอภิปรายของคุณมิ่งขวัญ ก่อนที่ใช้เวลาไม่นานเดินออกไป แต่ก็นั่นแหละครับ 1 ภาพหลายคำอธิบาย”
“ผมยังยืนยันครับว่า 1 เสียงของพี่น้องเชียงรายยังไม่ได้หายไปไหน ผมไม่ได้เป็นคนทำลายไป ซึ่งอาจจะมีบางท่านครับไม่ได้เลือกผม แต่เลือกพรรค เลือกหัวหน้าพรรค ซึ่งผมขอน้อมรับกระแสที่เกิดขึ้นครับ ที่ผ่านมามีหลายกระแสบอกว่าทำไม ส.ส.ไม่เอางบมาพัฒนาบ้าง ตรงจุดนี้อยากจะเน้นย้ำชี้แจงอีกว่า ในสมัยก่อนการเมืองแบบเดิมจะมีงบ ส.ส.แต่ในปัจจุบันงบนั้นไม่ได้มีมาลงที่ ส.ส.แล้วครับ ถึงอย่างไรก็ตาม ผมก็ยังทำงานติดตามอย่างเต็มที่เพื่อพัฒนาเชียงรายและไทยต่อไปแน่นอน”
“ผมอยากจะขอให้สังคมเราอยู่ร่วมกันโดยใช้สติ ใช้หลักการ ใช้เหตุผล ก่อนใช้อารมณ์และความชิงชังโดยไม่สนใจว่าเราทำอะไร เรากำลังต่อสู้กับอะไร การให้ทหารออกจากการเมือง การแก้ รธน. การมี รธน.ใหม่ที่มาจาก ปชช. การพัฒนา สธ. การต่อต้านโควิด การผลักดันความเท่าเทียมกันทางการศึกษา
สิ่งสำคัญที่สุดในประเทศนี้คือการทำงานโดยอาศัยความร่วมมือกันของพรรคการเมืองครับ ถ้าการเมืองเข้มแข็ง ภาคประชาชนเข้มแข็ง เราถึงจะทำเรื่องใหญ่ให้สำเร็จได้ครับ ผมต้องขอโทษที่ทำให้พ่อแม่พี่น้องชาวเชียงรายเข้าใจผิด…หากท่านยังโกรธในตัวผม ผมอยากให้ท่านใช้เวลาที่เหลืออยู่นี้ติดตามการทำงานของผมต่อไปครับ ให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ผลงานและความตั้งใจของผมครับ”