นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 4/63 ว่า สถานการณ์ด้านแรงงานมีจำนวนแรงงานเพิ่มขึ้น 39.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 38.0 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน,การจ้างงาน38.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 จากการขยายตัวของการจ้างงานภาคเกษตรกรรมร้อยละ 3.4,อัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 1.86 ลดลงจากร้อยละ 1.95 และร้อยละ 1.90 ในไตรมาส 2/63 และไตรมาส 3/63 ตามลำดับ ทั้งนี้แม้การว่างงงานในระบบลดลง แต่ยังอยู่ในระดับสูง โดยสัดส่วนผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงงานต่อผู้ประกันตนอยู่ที่ร้อยละ 3.6 แต่ผู้ว่างงานรายใหม่ปรับตัวลดลง สะท้อนการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ขณะที่หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 13.77 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 3.9 จากร้อยละ 3.8 ในไตรมาสก่อน โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 86.6 ต่อจีดีพี ( GDP ) ส่วนสถานการณ์ด้านอื่นๆที่น่าสนใจ ด้านสุขภาพและการเจ็บป่วยพบการเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมลดลงร้อยละ 51.9,การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลงร้อยละ 3.2,คดีอาญาลดลงร้อยละ 23.7 และอุบัติเหตุจราจรทางบกลดลงร้อยละ 10.7 โดยภาพรวมตลอดปี 2563 ตลาดแรงงานได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ทำให้อัตราการว่างงานเพิ่ม และชั่วโมงการทำงานลดลง โดยแรงงานในปี 2563 มีทั้งสิ้น 38.5 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 1.0 จากการเข้าสู่ตลาดแรงงานของผู้อยู่นอกกำลังแรงงานประมาณ 1 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานในกลุ่มอาชีพอิสระ,การจ้างงานขยายตัวร้อยละ 0.2 โดยเฉพาะการขยายตัวในสาขาการค้าส่ง/ค้าปลีก และสาขาก่อสร้างที่ขยายตัวดีในช่วงครึ่งหลังของปี ตามมาตรการผ่อนคลายการควบคุมการแพร่ระบาดและสาขาการขนส่งที่ได้รับประโยชน์ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคจากกการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสินค้าของประชาชน,อัตราการว่างงานปี 2563 ยังอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 1.69 เพิ่มจากปี 2562 ที่ร้อยละ 0.98 หรือมีจำนวนผู้ว่างงานเฉลี่ย 6.51 แสนคน ทั้งนี้จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนช่วงครึ่งปีแรกของ 2563 พบว่า ครัวเรือนมีรายได้ 23,615 บาท ปรับตัวลดลงจากปี 2562 ที่มีรายได้ 26,371 บาท หรือมีรายได้ลดลงร้อยละ 10.45 สำหรับปัจจัยเสี่ยงด้านแรงงานปี 2564 ได้แก่ความไม่แน่นอนของการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นตัวจากการระบาดในรอบแรก ขณะที่ผู้ประกอบอาชีพอิสระจะมีรายได้ลดลงจากการชะลอตัวของการบริโภคภาคเอกชน และการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มทักษะด่านเทคโนโลยีดิจิทัลควรมีการสนับสนุนการพัฒนาทักษะ ปรับทักษะ และสร้างทักษะใหม่ให้กับแรงงาน นอกจากนี้สภาพัฒน์ฯยังได้นำเสนอบทความเรื่อง “พ.ร.ก.เงินกู้ให้อะไรกับประชาชน” โดยรัฐบาลได้ออก พ.ร.ก.เงินกู้หนึ่งล้านล้านบาท เพื่อประโยชน์ในการแก้ปัญหาการระบาดของโรค ช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ รวมทั้งฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม โดย พ.ร.ก.ดังกล่าวได้กำหนดการใช้จ่ายเป็น 3 แผนงานหลักได้แก่ แผนงานที่ 1 มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข,แผนงานที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ แผนงานที่ 3 เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ปัจจุบันกรอบวงเงินกู้ถูกอนุมัติไปแล้วทั้งสิ้น 748,666.24 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 74.9 ของวงเงินงบประมาณรวม และมีการเบิกจ่ายแล้วประมาณร้อยละ 54.05 ของงบประมาณที่ได้รับการอนุมัติทั้งหมด(ข้อมูล ณ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564)โดยมีโครงการที่ได้รับการอนุมัติแล้ว 256 โครงการ อย่างไรก็ตามวงเงินอนุมัติดังกล่าวจะถูกกู้และเบิกจ่ายเป็นงวดตามความจำเป็นในการใช้จ่าย ซึ่งปัจจุบันมีการเบิกจ่ายแล้ว 404,632.25 ล้านบาท