บจธ. แจงความคืบหน้าจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการที่ดินและกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน หวังลดความเหลื่อมล้ำเกษตรกรไทย
เมื่อวันที่ 23 ก.พ. พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน ประธานกรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. มอบหมายให้นายกุลพัชร ภูมิใจอวด รองผู้อำนวยการปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการ บจธ. เป็นประธานจัดแถลงข่าว ความคืบหน้าของ ร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการที่ดินและกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน พ.ศ. .... ณ ห้องกมลทิพย์ 1 ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพ
นายกุลพัชร ภูมิใจอวด รองผู้อำนวยการ บจธ. ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวย บจธ. กล่าวว่า เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ. สถาบันบริหารจัดการที่ดินและกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน พ.ศ. .... แบ่งภารกิจการดำเนินงานออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ
1) การบริหารจัดการและการกระจายการถือครองที่ดิน จากการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นหลายจังหวัดพบว่า มีกลุ่มชุมชนหลายกลุ่มที่พบปัญหาไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในที่ดินเพื่อนำมาประกอบอาชีพและอยู่อาศัย บ้างต้องเช่าที่ดินทำกิน ไม่มีความมั่นคงในชีวิต เนื่องจากที่ดินในระบบตลาดมีราคาสูง และเข้าถึงยาก สถาบันฯ จะเข้าไปเป็นสื่อกลางในการร่วมกันจัดหาที่ดินและเจรจาร่วมกับกลุ่มชุมชนให้เกิดความเป็นธรรม โดยจะจัดที่หาดินให้แก่เกษตรกร ผู้ยากจน ชุมชน และองค์กรชุมชน ที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ให้มีที่ดินทำกิน ได้มีการบริหารจัดการที่ดินร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ และได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างยั่งยืน ในรูปแบบแปลงรวม มีกรรมสิทธิ์ร่วม โดยมีอำนาจในการจัดสรรที่ดิน เพื่อนำมาให้เช่า หรือเช่าซื้อระยะยาว เสียค่าธรรมเนียมต่ำ สนับสนุนการจัดทำผังแปลงที่ดินตามหลักภูมิสถาปัตย์และโครงสร้างพื้นฐาน รวมไปถึงสินเชื่อเพื่อพัฒนาที่ดิน และที่อยู่อาศัย ซึ่งในปัจจุบัน บจธ. ได้ให้การสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์ตามโครงการบริหารจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน ไปแล้ว 16 กลุ่ม ใน 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดตาก จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดจันทบุรี จังหวัดลำพูน และจังหวัดนครราชสีมา เกษตรกรจำนวน จำนวน 982 ครัวเรือน จำนวนที่ดินประมาณ 2,000 ไร่
2) การป้องกันการสูญเสียสิทธิในที่ดิน ด้วยการให้สินเชื่อเพื่อป้องกันการสูญเสียสิทธิในที่ดินอันเนื่องมาจากการจำนอง ขายฝาก และการบังคับคดี ให้ชำระหนี้ตามคำพิพากษารวมไปถึงจัดซื้อที่ดินของลูกหนี้ที่ถูกขายทอดตลาด หรือหลุดขายฝากไปแล้ว เพื่อคงสิทธิให้เกษตรกรและผู้ยากจนได้กลับมามีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยในที่ดินเดิมของตนเอง โดย บจธ. ได้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรไปแล้ว 388 ราย สามารถป้องกันและคงสิทธิในที่ดินได้ประมาณ 2,700 ไร่
3) การสนับสนุนอาชีพให้เกษตรกร ในพื้นที่ดำเนินการของสถาบันฯ ที่ได้จัดสรรให้กลุ่มเกษตรกรไปแล้ว สถาบันฯ จะสนับสนุน ส่งเสริมให้ทำการเกษตรแบบผสมผสานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ และสนับสนุนต่อเนื่องแบบครบวงจร โดยการอบรมให้ความรู้ การเรียนรู้ศึกษาดูงาน เพื่อให้เกษตรกรได้เกิดทักษะในการทำเกษตรกรรม สามารถดำรงชีวิตได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน สถาบันฯ จะสนับสนุนการจัดทำแผนการผลิต และด้านการจัดหาตลาดฯ และบูรณาการร่วมกับภาคีต่างๆ เพื่อจัดสรรงบประมาณมาสนับสนุน เพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชน สร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพให้แก่เกษตรกร ตามนโยบายของรัฐบาล
เข้าถึงประชาชนในระดับฐานรากมากขึ้น
สำหรับที่ดินที่ใช้ดำเนินงานตามร่าง พ.ร.บ. สถาบันบริหารจัดการที่ดินฯ จะใช้ที่ดินที่จัดหาจากทั้งภาคเอกชนและภาครัฐตามที่หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบมอบหมายให้ตามนโยบายการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศที่คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบัน บจธ. ได้ลงนามความตกลงกับกรมธนารักษ์ เพื่อขยายความร่วมมือในการนำที่ราชพัสดุ มาให้ บจธ. บริหารจัดการต่อให้เพื่อเกษตรกร ผู้ยากจน และผู้ที่มีความประสงค์จะใช้ประโยชน์ในที่ดินได้ทำการเกษตรในราคาที่ไม่แพง เป็นการเปิดโอกาสให้เกษตรกร และผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากที่ราชพัสดุได้ง่ายขึ้น เช่นเดียวกับการขยายกลุ่มเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือกลุ่มแรงงาน จึงเกิดความตกลงร่วมมือระหว่าง บจธ. และสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ในการให้ความช่วยเหลือแรงงานในระบบประกันสังคม ที่ต้องออกจากงานในช่วงโควิด-19 และกลับภูมิลำเนาเดิมโดยไม่มีอาชีพรองรับ ซึ่งมีความประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมแต่ไม่มีที่ดินทำกิน รวมทั้งมีที่ดินแต่ขาดเงินทุนประกอบอาชีพ โดย บจธ. จะเป็นฐานรองรับให้กับแรงงานเหล่านี้ ถือเป็นการปรับเปลี่ยนภารกิจของ บจธ. ตามสภาพแวดล้อมทางสังคม เพื่อให้เกษตรกร ผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาส ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
สาระสำคัญที่ปรากฎในร่าง พ.ร.บ.สถาบันบริหารจัดการที่ดินฯ ยังมีเรื่องการจัดตั้ง “กองทุนบริหารจัดการที่ดินและกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน” เพื่อดำเนินงานด้านต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ นำงบประมาณมาสนับสนุนการบริหารงานช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ยากจน องค์กรชุมชน และเครือข่ายองค์กรชุมชน ได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ โดยเงินทุนตั้งต้นของสถาบันบริหารจัดการที่ดินฯ ส่วนใหญ่จะมาจากเงินทุนที่รัฐบาลจัดสรรให้จากงบประมาณแผ่นดิน นอกจากนี้ จะได้มาจากเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้ รวมไปถึงภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีกฎหมายกำหนดให้จัดสรรเป็นของกองทุน ตามข้อเสนอจากการรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชน
ทั้งนี้ หัวใจของร่างพ.ร.บ.ฯ คือส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนมากขึ้น โดยการกำหนดให้มีกรรมการตัวแทนภาคประชาชน จํานวนเก้าคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจาก เครือข่ายภาคประชาชนด้านที่อยู่อาศัย ด้านการเกษตร ด้านแรงงาน ด้านสวัสดิการสังคม ด้านกลุ่มชาติพันธุ์ ด้านกฎหมายสิทธิชุมชน และด้านส่งเสริมความเข้มแข็งชุมชน เข้ามาร่วมในการกำหนดนโยบายการบริหารงานของสถาบันฯ ให้สามารถตอบโจทย์ปัญหาความเดือดร้อน ความต้องการของภาคประชาชนมากขึ้น โดยผู้แทนภาคประชาชนกึ่งหนึ่งที่จะต้องมาจากเครือข่ายภาคประชาชนด้านที่อยู่อาศัย ด้านการเกษตร ด้านแรงงาน ด้านสวัสดิการสังคม ด้านกลุ่มชาติพันธุ์ ด้านกฎหมายสิทธิชุมชน และด้านส่งเสริมความเข้มแข็งชุมชนเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของการถือครองและใช้ประโยชน์ที่ดินของผู้เข้าร่วมโครงการ ภาคประชาชนได้เสนออำนาจให้ สถาบันฯ สามารถให้ใช้ประโยชน์ในรูปแบบของการถือกรรมสิทธิ์ร่วมระหว่างรัฐกับประชาชนได้ นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของที่ดินหรือสิทธิในการถือครองที่ดินที่ได้จากสถาบันอาจถูกเพิกถอนสิทธิ หรือถูกจำกัด การใช้ประโยชน์หรือกำหนดเงื่อนไขการเปลี่ยนมือ หรือกำหนดคุณสมบัติของผู้รับโอนได้ ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนดอีกด้วย
นายกุลพัชร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับขั้นตอนการดำเนินการหลังจากนี้ บจธ. จะสรุปรายละเอียดเพื่อนำเสนอเข้าที่สู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งขาติ (คทช.) โดยคาดว่าจะผ่านความเห็นชอบจาก คทช. เนื่องจากเป็นกฎหมายที่รัฐบาล ให้การสนับสนุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและส่งเสริมให้เกิดการกระจายถือครองที่ดิน ช่วยฟื้นฟูพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และสังคมได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว และยังเป็นกฎหมายที่มาจากความต้องการของภาคประชาชน คาดว่าจะสามารถเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีได้ภายในเดือนมิถุนายน 2564 หากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบก็จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาสภาผู้แทนราษฎรเป็นลำดับต่อไป