นักวิจัยมหาวิทยาลัยนครพนม ลงพื้นที่สำรวจวิจัย ผลกระทบน้ำโขงแห้งตกตะกอน ชี้ผลกระทบขั้นวิกฤติ เป็นสัญญาณหายนะ ระบบนิเวศน์พังระยะยาว ปลาเริ่มสูญพันธุ์ กระทบเศรษฐกิจการประมง ต้นเหตุการณ์สร้างเขื่อนประเทศเพื่อนบ้าน ระบบไหลเวียนน้ำผิดธรรมชาติ แนะรัฐบาลสร้างเขื่อนกักน้ำ ลำน้ำสาขาสายหลัก วางแผนรับมือระยะยาว เพิ่มปริมาณน้ำโขงช่วงฤดูแล้ง
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ถนอม ทาทอง อาจารย์ประจำคณะเกษตรและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนครพนม เปิดเผยว่า ปัจจุบันต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงของน้ำโขง มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน เกษตรกร ลุ่มน้ำโขง เป็นอย่างมาก เนื่องจาก ในช่วง 4 -5 ปี ที่ผ่านมา จากการสำรวจเก็บข้อมูล พบว่าน้ำโขงมีความผันผวน และมีความเปลี่ยนแปลง ไปจากอดีต ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ และมีระดับน้ำโขงผันผวนผิดฤดูกาล ทั้งนี้เกิดจากปัจจัยสำคัญในการสร้างเขื่อนของประเทศเพื่อนบ้าน ที่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติของน้ำโขง ยิ่งในช่วง 2 -3 ปี ที่ผ่านมา ในช่วงฤดูฝน น้ำโขงจะมีปริมาณต่ำเมื่อเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา ยิ่งช่วงฤดูแล้ง จะมีปริมาณน้ำน้อย เฉลี่ยต่ำสุดที่ประมาณ 1-2 เมตร ที่สำคัญยังมีการเปลี่ยนแปลง เรื่องของสี กลายเป็นสีฟ้าครามคล้ายทะเล หลายคนมองแล้วอาจตื่นตา สวยงาม แต่ในทางวิชาการ จากการลงพื้นที่สำรวจวิจัย พบว่า น้ำโขงที่เกิดสีฟ้าคราม มาจากต้นเหตุของการตกตะกอนของหินปูน เพราะเขื่อนกั้นน้ำโขงมีการกักน้ำ กระแสน้ำไม่ไหลเชี่ยว ไม่มีการไหลเวียนตามธรรมชาติ อีกทั้งยังมี ค่า PH ความเป็นกลด เป็นด่าง ผิดธรรมชาติ ปกติค่ามาตรฐานของน้ำจะมีความเป็นกลดเป็นด่างที่ คือค่า PH มาตรฐาน ประมาณ 7 หากค่า PH ต่ำกว่า 7 ถือว่าเป็นกรด แต่ค่า PH มากกกว่า 7 ถือว่า เป็นด่าง ซึ่งปัจจุบัน จากการสุ่มวิจัยสำรวจพบ ว่า บางจุดน้ำโขง มีค่าความเป็นด่างสูงประมาณ 9.5 -10 ทำให้เกิดการตกตะกอน เปลี่ยนสี ส่งที่ตามมาคือ สิ่งมีชีวิตในน้ำ แพลงก์ตอน ในน้ำ รวมถึงสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติตายลง ระบบนิเวศน์พัง การขยายพันธุ์ปลาน้อยลง รวมถึงอาหารสัตว์น้ำในน้ำโขงขาดแคลน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ถนอม ทาทอง ยังกล่าวอีกว่า ปัญหาสำคัญ เมื่อน้ำโขงไม่เป็นไปตามธรรมชาติถูกเปลี่ยนแปลงด้วยระบบการสร้างเขื่อน ทำให้เกิดความผันผวน ระดับน้ำต่ำกว่าธรรมชาติ ไม่หนุนลำน้ำสาขา ลำน้ำอูน และลำน้ำสงคราม ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการขยายพันธุ์ปลาในช่วงฤดูฝน ทำให้ปลาสามารถขยายพันธุ์ได้ เฉพาะในลำน้ำโขง แต่นับวันความอุดมสมบูรณ์นับวันลดลง สิ่งที่ตามมาคือ วิถีชีวิต การเกษตร การประมง ของชาวบ้านริมฝั่งโขงจะมีการเปลี่ยนแปลง อาชีพหลักเศรษฐกิจด้านการประมงจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด หาปลาได้น้อยลง ทางรอดสำคัญ อยากสะท้อนไปยังรัฐบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องมีการวางแผนบริหารจัดการน้ำในลำน้ำสาขา เนื่องจากปัจจุบัน น้ำโขงจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับลำน้ำสาขาสายหลัก ลำน้ำก่ำ ลำน้ำอูน และลำน้ำสงคราม หากมีการก่อสร้างระบบกักน้ำ บริหารจัดการน้ำ ที่ดี เชื่อว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหา เมื่อน้ำโขงมีปริมาณลดลง จะสามารถใช้ระบบกักเก็บน้ำเป็นตัวเติมให้น้ำโขง เพิ่มปริมาณอยู่ในจุดที่เหมาะสม เมื่อช่วงฤดูฝนจะต้องเก็บกักน้ำในลำน้ำสาขาให้เพียงต่อ และระบายลงน้ำโขง ในส่วนที่ไม่ต้องการ สิ่งเหล่านี้ หากบริหารจัดการได้ เป็นทางออกทางเดียวที่จะแก้ไขได้ในระยะยาว เพราะหากปล่อยไว้เชื่อว่า สิ่งที่ตามมาคือ ความหายนะ ระบบนิเวศน์พัง วิถีชีวิตชาวประมงลุ่มน้ำโขงอาจสูญหายไป ซึ่งทาง คณะเกษตรและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนครพนม จะมีการลงพื้นที่สำรวจทำวิจัย เสนอแนวทางแก้ไข ไปยังหน่วยงานเกี่ยวข้องต่อเนื่อง เพื่อสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา