วันที่ 23 ก.พ. 64 นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.จังหวัดตรัง พรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในจำเลยคดีกบฏ กปปส. ได้โพสต์ข้อความถึงคดีดังกล่าว โดยระบุว่า เขาหาว่าผมเป็น “ กบฏ" เช้าวันนี้สื่อมวลชนหลายสำนักลงข่าว ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาคดี การชุมนุมของ กปปส.ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์นี้ หลังจากเวลาชุมนุม ในเดือนตุลาคม 2556 ถึง พฤษภาคม 2557 กว่า 7 ปี คดีนี้มีจำเลยจำนวนทั้งสิ้น 39 คน ผมเป็นจำเลยที่ 2 หลายคนอาจจำเหตุการณ์ได้ แต่หลายคนอาจจำไม่ได้แล้ว จึงขอเล่าเรื่องราว การชุมนุมของมวลมหาประชาชนระดับตำนาน เพื่อการติดตามข้อเท็จจริง ดังนี้... การชุมนุมเริ่มต้นขึ้น เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2556 บนถนนเลียบสถานีรถไฟสามเสน กรุงเทพฯ ผู้ชุมนุมนัดรวมตัวกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อ คัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งรัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทยในขณะนั้นสนับสนุนให้มีการยื่นเข้าพิจารณาในสภาฯ ซึ่งพรรคเพื่อไทยครองเสียงข้างมากรวมถึงแนวร่วมในวุฒิสภาด้วย หากถามว่าทำไมต้องคัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรม? คำตอบคือ ก่อนหน้าที่คณะกรรมาธิการสภาผู้แทนฯจะพิจารณา กฎหมายนี้มีจุดมุ่งหมายนิรโทษกรรมให้ผู้ชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2547 ถึง 2556 ครอบคลุมการชุมนุมของ พันธมิตรฯ นปช. และอื่นๆ เฉพาะความผิดเกี่ยวกับการชุมนุม เช่น ฝ่าฝืน พระราชกำหนดฉุกเฉิน เท่านั้น แต่ปัญหา คือ มี กรรมาธิการจากซีกเพื่อไทย แปรญัตติ กฎหมายนิรโทษกรรม ให้หมายความรวมถึง ผู้กระทำความผิดกฎหมายอาญา เช่น วางเพลิงฯลฯ รวมถึงผู้กระทำความผิดกฎหมายทุจริต ด้วย อันเป็นเรื่องไม่เคยมีมาก่อนในการออกกฎหมายนิรโทษกรรม มิหนำซ้ำยังแปรญัตติว่า ถ้านิรโทษกรรมผู้กระทำผิดกฎหมายอาญาและทุจริตแล้ว ถ้ายังอยู่ในกระบวนการสอบสวนของตำรวจ หรือ อัยการให้ปล่อยตัว ถ้าอยู่ในการพิจารณาของศาลให้ปล่อยตัวและถือว่าไม่ได้กระทำความผิด ถ้าพิพากษาแล้วอยู่ในระหว่างติดคุก ให้ปล่อยตัว และถือว่าไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน ถ้าติดคุกแล้วหรือถูกพิพากษาแล้ว ให้นิรโทษกรรม ถือว่า เป็นผู้บริสุทธิ์ กฎหมายนิรโทษกรรมนี้ จึงกลายเป็น ฉบับสุดซอย เหมาเข่ง ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า เป็นการทำลายกระบวนการยุติธรรม ทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรม พรรคเพื่อไทยหนุนกฎหมายนี้สุดตัว เพราะ ถือว่ามีเสียงข้างมากในสภา และคุมเสียงในวุฒิสภาได้ จึงไม่ต้องฟังเสียงใคร !!!!!!!!! การชุมนุมคัดค้านกฎหมายนี้ จึงมีคนจากทุกสาขาอาชีพเข้าร่วมคัดค้านกฎหมายฉบับสุดซอยนี้ การชุมนุมในคืนวันที่ 31 ตุลาคม 2556 อันเป็นการชุมนุมคืนแรกที่มีมวลมหาประชาชนเข้าร่วมอย่างมากกลับไม่เป็นผล เพราะตอนดึกคืนต่อมา สภาผู้แทนราษฎร ลักหลับ ยกมือผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอยเหมาเข่ง .... โดยไม่ยี่หระเสียงคัดค้านที่ดังขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การชุมนุม มีคนมาร่วมมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ และมีการยกระดับการชุมนุม เป็นการโค่นระบอบทักษิณ เพราะถือว่าเป็นต้นตอของมหากาพย์ โกงจนถูกยึดทรัพย์ ชุมนุมรุนแรงผิดกฎหมายอาญามีการเผาศาลากลางจังหวัด ห้างร้านต่างๆ แล้วต่อมาใช้เสียงข้างมากออกกฎหมายมานิรโทษกรรมการกระความทำผิดเหล่านั้น โดยใช้เสียงข้างมากของพวกตัวเองในสภาฯ จนกลายเป็น การชุมนุมข้ามปี ยาวนานถึง ๒๐๔ วัน จบลงในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จากการยึดอำนาจของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตลอดการชุมนุมมีคนร้องศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง แต่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งเกี่ยวกับการชุมนุมว่าเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมตามที่รัฐธรรมนูญรับรองคุ้มครองไว้ ทั้งสิ้น ถึง 28 ครั้ง( ตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2556 ถึง 23 เมษายน 2557 )ตลอดระยะเวลาที่มีการชุมนุม แต่รัฐบาลในขณะเกิดเหตุการณ์ คือ รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ใช้กรมสอบสวนคดีพิเศษที่มีนายธาริต เพ็งดิษฐ์ เป็นอธิบดี รับคดีเกี่ยวกับการชุมนุมของมวลมหาประชาชน กปปส. เป็นคดีพิเศษ และ ให้พนักงานอัยการสำนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง แกนนำ 9 คน นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และต่อมา ฟ้องเพิ่มเติม อีก 30 คน รวมทั้งสิ้น 39 คน ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาเมื่อ วันที่ 24 มกราคม 2561 ก่อนหน้านั้นมีการจับตัวฟ้องไปก่อนแล้ว 4 คน ( ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง) ตั้งข้อหาหนัก คือ ร่วมกันเป็นกบฏ ก่อการร้าย อั้งยี่ ซ่องโจร มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย กระทำการให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ขัดขวางเลือกตั้ง ฯลฯ ศาลนัดครั้งแรก เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2561 โจทก์จะขอเลื่อนคดี แต่จำเลยค้านว่าเป็นการประวิงคดี ศาลนัดให้โจทย์ยื่นคำแถลงคดี ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 จากนั้นมีการพิจารณาคดีต่อเนื่องกันมา จนสิ้นสุดในวันที่ 5 สิงหาคม 2563 รวมระยะเวลา โดยโจทก์ได้ยื่นบัญชีระบุพยาน 1,009 อันดับ เป็นพยานบุคคล 891 คน แต่พยานโจทก์ ที่นำมาสืบจริงในศาลแค่ 88 คน จำเลยอ้างตัวเองเป็นพยาน 39 คน พยานบุคคลภายนอก 1 คน รวม 40 คน ระหว่างพิจารณาคดีมีจำเลยเสียชีวิต 1 ท่าน คือ พลเอกปรีชา เอี่ยมสุพรรณ จาก กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ ศาลนัดฟังคำพิพากษา ในวันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564"