นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของวงการแพทย์ไทย หลังนพ.ปัญญา หาญพาณิชย์พันธุ์ แพทย์เกษียณอายุวัย 66 ปี ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากการตรวจรักษาคนไข้ที่ติดเชื้อไวรัสจากกลุ่มคลัสเตอร์งานเลี้ยงโต๊ะแชร์ ซึ่งมารับการรักษา ที่คลินิกที่จังหวัดมหาสารคาม เสียชีวิต โดยมีประชาชนนำดอกไม้ มาวางที่บริเวณหน้าคลินิกเพื่อเป็น การแสดงความเคารพและอาลัยต่อการจากไปของคุณหมอ ที่มีจิตวิญญาณของการอุทิศตัว เพื่อประชาชนและคนไข้อย่างแท้จริง สำหรับไทม์ไลน์การป่วยของ นพ.ปัญญา เริ่มตั้งแต่ เมื่อวันที่ 13 – 28 ม.ค.64 ตรวจรักษาผู้ป่วยที่คลินิก โดยไม่ทราบว่า มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 3 คน มารับการตรวจ เนื่องจากขณะนั้น ผู้ป่วยยังไม่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อ และไม่ได้แจ้งว่ามีความเสี่ยงติดเชื้อ เมื่อวันที่ 28 ม.ค.64 ช่วงเย็น ทราบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 มารักษาที่คลินิก นพ.ปัญญา จึงปิดคลินิกและกลับบ้านทันที โดยแยกกักตัว เพื่อป้องกันเชื้อแพร่ไปยังคนอื่น เมื่อวันที่ 29 ม.ค.64 ไปตรวจหาเชื้อครั้งแรก แต่ไม่พบเชื้อ จึงกลับมากักตัวที่บ้านต่อ เมื่อวันที่ 31 ม.ค.64 เริ่มมีอาการป่วย ครั่นเนื้อครั่นตัวเหมือนจะเป็นไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เมื่อวันที่ 1 ก.พ.64 ไปตรวจหาเชื้ออีกครั้ง พบว่าติดเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 2 ก.พ.64 เข้ารับการรักษาที่ รพ.มหาสารคาม ผลเอ็กซเรย์พบว่าปอดยังไม่อักเสบ ทีมแพทย์จึงรักษาตามอาการ และให้ยาฆ่าเชื้อไวรัส ซึ่งตอนแรก นพ.ปัญญามีอาการดีขึ้น เมื่อวันที่ 3 ก.พ.64 อาการทรุดลง มีไข้ ปอดอักเสบ มีอาการไตวาย ต้องฟอกเลือด เมื่อวันที่ 7 ก.พ.64 มีอาการปอดอักเสบ ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ อาการทรุดลงเรื่อยๆ จนต้องส่งไปรักษาต่อที่ รพ.ศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่ทั้งปอด ไต ตับ ทำงานแย่ลง เมื่อวันที่ 16 ก.พ.64 เริ่มมีการติดเชื้อในกระแสเลือดจากเชื้อรา บ่งบอกว่าผู้ป่วยมีภูมิต้านทานไม่ดี ระบบปอดทำงานแย่ลง ปอดทำงานหนักขึ้น ระบบหัวใจเต้นผิดจังหวะและหัวใจล้มเหลว เมื่อวันที่ 18 ก.พ.64 นพ.ปัญญา เสียชีวิต คณะแพทย์ลงความเห็นว่า เสียชีวิตจากโควิด-19 และมีภาวะแทรกซ้อนจากระบบหายใจ-หลอดเลือดล้มเหลว นอกจากการสูญเสีย นพ.ปัญหาแล้ว ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.63 ซึ่งมีการระบาดรอบใหม่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมีบุคลากรทางการแพทย์ ที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว จำนวน 36 คน โดยกระจายอยู่เกือบทุกสหวิชาชีพ ที่มากที่สุด คือ พยาบาล ที่ส่วนใหญ่ สาเหตุมาจากการสัมผัส หรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสดังกล่าว การสูญเสียบุคคลากรทางการแพทย์ในครั้งนี้ ถือเป็นนายแพทย์คนแรกของประเทศไทย ที่เสียชีวิตจากการอุทิศตน เพื่อรักษาผู้ป่วย ซึ่งนับว่าเป็นบุคคลที่น่าสรรเสริญ และจะเป็นที่จดจำของคนไทยทั้งประเทศไปอีกนานแสนนาน