การขับเคลื่อนเศรษฐกิจท่ามกลางปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งจากภายใน และภายนอกประเทศ ส่งผลต่อต่อเสถียรภาพของรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งกลายเป็นงานชิ้นสำคัญที่รัฐบาลต้องเร่งหาทางแก้ไข หากต้องการที่จะบริหารประเทศต่อไป
ทั้งนี้จากตัวเลขของ “สภาพัฒน์” โดย “นายดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ออกมาระบุว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 4/2563 และแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2564 ว่า จีดีพีไตรมาส 4/2563 ขยายตัว 1.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนแต่หดตัวลง 4.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
โดยเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ขยายตัวจากในเรื่องของการอุปโภคและบริโภคภาครัฐ และเอกชนที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง ส่งผลให้จีดีพีปี 2563 หดตัว ลบ 6.1% ต่ำสุดในรอบ 22 ปี ตั้งแต่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งเป็นผลมาจากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้กระทบกับภาคการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจภายในประเทศ การเมืองภายในประเทศยังไม่มีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ยังได้คาดการณ์จีดีพีปี 2564 คาดว่าขยายตัวอยู่ที่ 2.5% – 3.5% มีค่ากลางที่ 3% ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงจากคาดการณ์เดิมที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวในช่วง 3.5% – 4.5% เนื่องจากยังมีผลกระทบจากการระบาดของโควิดรอบใหม่ ในไตรมาส 1 ของปีนี้อยู่ และคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาเพียง 3.2 ล้านคน ในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2564 ลดลงจากประมาณการณ์เดิมที่คาดว่าจะกลับมา 5 ล้านคน
ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณ 2564 คาดว่าอยู่ที่ระดับ 93.5% ลดลงจากประมาณการณ์เดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 94.4% โดยเป็นผลจากไตรมาส 4 ของปี 2563 มีการเบิกจ่ายต่ำกว่าเป้าหมาย พร้อมกันนี้ คาดว่าการเบิกจ่ายพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท จะสามารถเบิกจ่ายได้เพียง 80% ซึ่งล่าสุดเบิกจ่ายไปแล้ว 55%
นายดนุชา กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2564 ยังมีปัจจัยเสี่ยง และความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวช้า ปัญหาหนี้ครัวเรือนและหนี้ภาคธุรกิจ ปัญหาภัยแล้ง และความผันผวนของเศรษฐกิจและระบบการเงินโลก ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2564 จึงควรให้ความสำคัญกับ 9 ประเด็นสำคัญ ดังนี้ 1.การควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศ โดยการดำเนินมาตรการควบคุมต่อเนื่อง พร้อมกับการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมทั่วถึงและเพียงพอต่อการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในเวลาที่รวดเร็ว และเร่งด่วนฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ,2.การรักษาบรรยากาศทางการเมืองภายในประเทศ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจและเป็นอุปสรรคต่อบรรยากาศความเชื่อมั่น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวและการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยังมีความเปราะบางท่ามกลางความไม่แน่นอนของการระบาดของโควิด-19
3. การดูแลภาคเศรษฐกิจที่มีข้อจำกัดในการฟื้นตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการท่องเที่ยวและบริการ รวมทั้งการพิจารณามาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ยังประสบปัญหาสภาพคล่องและภาระหนี้สินเพิ่มเติม,4. การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ โดยการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2564 การเบิกจ่ายงบเหลื่อมปี การเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ การเร่งโครงการตามพระราชกำหนดเงินกู้ฯ 1 ล้านล้านบาท ,5. การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า เพื่อสร้างรายได้จากต่างประเทศ และสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการผลิต และการลงทุนภาคเอกชน
6. การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยการเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติ และออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2561 - 2563 ให้เกิดการลงทุนจริง ,7. การเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพื่อให้ภาคการท่องเที่ยว และบริการที่เกี่ยวเนื่องสามารถฟื้นตัวได้ทันทีที่มีการกระจายวัคซีนทั้งในประเทศ และต่างประเทศที่เป็นแหล่งต้นทางของนักท่องเที่ยวเป็นวงกว้าง และเพียงพอต่อการสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยด้านการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ,8. การเตรียมมาตรการรองรับความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้ง และการดูแลรายได้เกษตรกร และ9. การติดตาม และการเตรียมการรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจ และการเงินโลกที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์สูง และอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติมควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับการดูแลเสถียรภาพทาง
เช่นเดียวกัย “ดร.พิพัฒน์ เหลืองนิมิตชัย” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร ให้ความเห็นว่า ภาพรวมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะเห็นว่าไม่ได้ฟื้นตัวเร็วเหมือนเศรษฐกิจโลก ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกในระดับ 5.5% จากปีก่อนที่หดตัว -3.5% โดยในส่วนของเศรษฐกิจไทยการฟื้นตัวจะใช้เวลานาน เนื่องจากโควิด-19 มีผลกระทบต่อในหลายภาคส่วน และเซ็กเตอร์แตกต่างกัน และมีความไม่แน่นอนสูง โดยเกียรตินาคินภัทรประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้อยู่ที่ 2% จากเดิมคาดการณ์อยู่ที่ 3.5%
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามและเป็นตัวกำหนดทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะมีอยู่ 3 ประเด็น คือ 1.การควบคุมการติดเชื้อระลอกใหม่ จะเห็นว่ามีความรุนแรงและกว้างกว่ารอบก่อน โดยมาตรการควบคุมมีความยืดหยุ่นและเบากว่ารอบแรก ซึ่งหากกรณีการควบคุมใช้เวลานาน จะส่งผลต่อการบริโภคไม่ให้กลับมาสู่ระดับปกติ และหากกรณีเลวร้ายไม่สามารถเปิดประเทศได้ และใช้มาตรการควบคุมใช้เวลา 2 ไตรมาส จะส่งผลให้จีดีพีหดตัว -1.2% ,2.การกระจายวัคซีน โดยหากวัคซีนไม่เป็นไปตามแผนทั้งในแง่ประสิทธิผลของการป้องกัน หรือมีความล่าช้าในการได้รับและกระจายฉีดให้ประชาชน ซึ่งปัจจุบันมียอดผู้ติดเชื้อที่ได้รับผลกระทบกว่า 100 ล้านคน และผู้ติดเชื้อใหม่ 6 แสนคน โดยมีประเทศอิสราเอลที่สามารถฉีดได้ประชากรแล้วกว่า 56% ซึ่งต้องติดตามประสิทธิผลและผลข้างเคียง เพราะจะมีผลต่อการเปิดประเทศ และ3.นโยบายการคลังและนโยบายการเงินเพื่อเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจมีผลมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากเศรษฐกิจในอีก 1 ปีข้างหน้ายังคงขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ และมีแรงงานที่ได้รับผลกระทบ แม้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวจากหลุม แต่จะเกิดแผลเป็นกับเศรษฐกิจได้ ทำให้ต้องมีมาตรการทางการเงินและการคลังใส่เม็ดเงินเข้ามาเพื่อพยุงเศรษฐกิจ โดยนโยบายการคลังเชื่อว่ายังคงมีความจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม แม้ว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะคาดว่าสิ้นปีจะอยู่ที่ 56-57% แต่สามารถขยายเพดานกู้ได้ แต่จะต้องใช้เม็ดเงินให้มีประสิทธิภาพตรงจุด และรั่วไหลน้อยที่สุด เพราะมีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยลดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ
ขณะที่ “อ.ธนวรรธน์ พลวิชัย” อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองเรื่องนี้ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 มีโอกาสขยายตัวได้ในกรอบ ร้อยละ 3 หากสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ระหว่างประเทศไม่มีการระบาดรอบใหม่ หรือ ไม่มีการกลายพันธุ์
ขณะเดียวกันต้องจับตาปัจจัยการเมืองในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่าจะมีผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลหลังจากนี้หรือไม่ ซึ่งหากการเมืองไม่มีปัญหา สถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศคลี่คลาย รวมถึงมีการฉีดวัดซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 ในเดือนมิถุนายน 2564 จะทำให้เศรษฐกิจไทยโตได้แน่นอน
สุดท้าย!การขับเคลื่อนเศรษฐกิจท่ามกลางความเสี่ยงที่นอกเหนือการคาดเดา เป็นความเสี่ยงที่ไร้ทิศทางต้องทำใจและพร้อมรับมือ!