วันที่ 19 ก.พ.64 ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด-19)หรือศบค.แถลงสถานการณ์ประจำวัน ว่า วันนี้ไทยมีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 130 ราย เป็นผู้ติดเชื้อภายในประเทศ 116 ราย มาจากระบบเฝ้าระวัง และระบบบริการ 61 ราย จากการค้นหาเชิงรุก 55 ราย เป็นผู้ป่วยเดินทางจากต่างปรเทศ 14 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1 คน ทำให้ยอดผุ้เสียชีวิตสะสม 83 คน
สำหรับรายละเอียดผู้เสียชีวิตรายที่ 83 คือ นพ.ปัญญา หาญพาณิชย์พันธุ์ ซึ่งนพ.ปัญญาเกษียนอายุราชการจากโรงพยาบาลมหาสารคาม แล้วเปิดคลินิครักษาประชาชนในพื้นที่ ซึ่งมีโรคประจำตัวคือมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยติดเชื้อจากการดูแลผู้ป่วยรายที่ 2 , 9 และ11 ที่จังหวัดมหาสารคาม จากเคสโต๊ะเเชร์ โดยวันที่ 13-28 ม.ค. ผู้ป่วยดังกล่าวเข้ารับบริการที่คลินิค จากนั้นวันที่ 29 ม.ค. เมื่อนพ.ปัญญา ทราบว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ติดเชื้อ จึงไปตรวจหาเชื้อ แต่ผลเป็นลบ จากนั้นวันที่ 31 ม.ค.เริ่มมีอาการปวดกล้ามเนื้อ คล้ายจะมีไข้ กระทั่งวันที่ 2 ก.พ.ผลยืนยันเป็นโควิด-19 จึงเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาสารคาม และวันที่ 7 ก.พ. มีอาการปอดอักเสบรุนแรง ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ จากน้ันอาการทรุดลงต่อเนื่องและเสียชีวิตวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สถานการณ์ทั่วโลกวันนี้แตะ 110.82 ล้านราย เป็นรายใหม่ 3.97 แสนราย ผู้เสียชีวิตรายใหม่ 11,491 ราย สะสม 2.45 ล้านราย โดยข้อมูลล่าสุด 18 ก.พ. มีผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้วทั่วโลก 186 ล้านโดส โดยที่สหรัฐอเมริกา ฉีดแล้ว 57.4 ล้านโดส คิดเป็นร้อยละ 17.29 ของจำนวนประชากร อย่างไรก็ตาม ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงเกิดจากวัคซีน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนต้องรอให้มีการฉีดครบ 2 โดสในประชากรที่มากเพียงพอ ขณะที่สหรัฐฯ มีประชากรที่ฉีดครบ 2 โดส จำนวน 16.1 ล้านคน โดยข้อมูลประเทศในภูมิภาคอาเซียน ฉีดแล้วประมาณ 2 ล้านโดส
"ในวันที่ 22 ก.พ. ศบค.ชุดใหญ่เตรียมอนุมัติการกระจายวัคซีนในประเทศไทย สิ่งสำคัญคือ เราจำเป็นต้องปกป้องระบบสาธารณสุขของประเทศ จึงต้องฉีดให้กับบุคลากรสาธารณสุข เพื่อช่วยดูแลรักษาให้บุคลากรทุกคนปลอดภัยและดูแลคนไทยต่อไป" พญ.อภิสมัย กล่าว
พญ.อภิสมัย กล่าวต่อ นพ.ปัญญา ไม่ใช่บุคลากรรายแรกที่ติดเชื้อ เพราะระหว่างวันที่ 15 ธ.ค.ถึงวันที่ 18 ก.พ. มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อทั้งสิ้น 36 ราย และติดเชื้อจากกรปฏิบัติหน้าที่ 6 ราย กระจายไปยังภาคต่างๆ โดยบุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอยู่ตลอด ต้องมีการกักตัวและหมุนเวียนการปฏิบัติงานอยู่เป็นประจำ ดังนั้น ด้วยเหตุนี้จึงนำไปสู่การพิจารณา ของคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตราการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 ในการวางแผนกระจายวัคซีนที่จะเข้ามาล็อตแรก เพื่อปกป้องระบบสาธารณสุข ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์จึงจำเป็นต้องเป็นกลุ่มแรกที่จะได้รับวัคซีน