คาดทุ่มเทตรวจรักษา และใช้เวลาในการตรวจเป็นเวลานาน คาดเชื้อลอดเข้าร่องหน้ากาก ประกอบกับมีโรคประจำตัวจึงเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการรับเชื้อง่ายขึ้น ถือเป็นแพทย์ที่เสียชีวิตจากโควิด-19 รายแรกในไทย ย้ำบุคคลากรทางการแพทย์ไม่ว่าจะปฏิบัติงานสถานที่ใด ต้องมีเครื่องป้องกันอย่างดี ในการทำหัตถการต้องสวมถุงมือ ส่วนการตรวจรักษาในคลินิก ห้องตรวจที่คับแคบ อากาศไม่ถ่ายเท ต้องเพิ่มความระมัดระวัง รวมถึงการนั่งที่ไม่เว้นระยะห่างกับผู้ป่วย 18 ก.พ.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 รายล่าสุดวันนี้เป็นบุคลากรทางการแพทย์ (เกษียณอายุ) อายุ 66 ปี เพศชาย มีโรคประจำตัว มะเร็งต่อมลูกหมาก ไขมันในเลือดสูง ถุงลมโป่งพอง ส่งผลให้ยอดเสียชีวิตสะสมรวม 83 ราย สำหรับรายละเอียดผู้เสียชีวิตมีดังนี้ เมื่อวันที่ 13-28 ม.ค.64 ให้การรักษาผู้ป่วยโควิด-19 รายที่ 2,9 และ 11 ของ จ.มหาสารคาม ที่คลีนิก วันที่ 29 ม.ค.64 ตรวจหาเชื้อ SARS-CoV-2 ครั้งที่ 1 ไม่พบเชื้อ วันที่ 31 ม.ค.64 มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ครั่นเนื้อครั่นตัว คล้ายจะเป็นไข้ วันที่ 1 ก.พ.64 มีอาการไข้ ตรวจหาเชื้อ SARS-CoV-2 ครั้งที่ 2 ผลพบเชื้อ วันที่ 2 ก.พ.64 เข้ารับการรักษาตัวที่ รพ.มหาสารคาม วันที่ 7 ก.พ.64 ปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ อาการทรุดลงเรื่อยๆ ส่งต่อรับการรักษาที่ รพ.ศรีนครินทร์ วันที่ 18 ก.พ.64 เสียชีวิต เวลา 01.00 น. นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า กรณีการเสียชีวิตของบุคลากรการทางแพทย์ครั้งนี้ เป็นบทเรียนย้ำเตือนให้ผู้ป่วยที่ไปพบแพทย์ ทั้งโรงพยาบาลและคลินิกเอกชน ขณะซักประวัติต้องแจ้งแพทย์ทุกครั้งว่าเคยเข้าไปในที่ชุมนุมชน วงเหล้า วงแชร์ หรือสัมผัสผู้ป่วย เพื่อช่วยลดการแพร่เชื้อโควิดไปให้บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว มะเร็ง เบาหวาน ไตเรื้อรัง ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่ชุมนุมชน แออัด งดการพูดคุยระหว่างรับประทานอาหาร อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อโควิด 36 คน เสียชีวิต 1 คน อายุต่ำสุด 21 ปี สูงสุด 70 ปี ส่วนใหญ่พบในสมุทรสาคร และกรุงเทพมหานคร จังหวัดละ 12 คน โดยติดเชื้อสูงสุดในกลุ่มพยาบาล 9 คน เจ้าหน้าที่ธุรการ 8 คน แพทย์ 4 คน ด้านนพ.ณัฐพงษ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า นพ.ปัญญามีประวัติน้ำตาลในเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง และถุงลมโป่งพอง แต่ดูแลตัวเองอย่างดีมาตลอด ขณะที่คนไข้ทั้ง 3 คน ที่ไปรักษาที่คลินิกก็ไม่ทราบมาก่อนว่าติดเชื้อโควิด-19 เมื่อคนไข้ติดเชื้อ นพ.ปัญญาจึงเข้ารับการตรวจ พบเชื้อในการตรวจครั้งที่ 2 ผลเอกซเรย์ครั้งแรก ไม่มีอาการปอดอักเสบ ได้รับการรักษาตามมาตรฐาน หลังจากนั้นมีไข้ ปอดอักเสบ ตับอักเสบ ไตวายต้องฟอกเลือด หลังรักษาในโรงพยาบาลเป็นวันที่ 7 นพ.ปัญญาเริ่มหายใจเหนื่อย ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ส่งต่อไปรักษาที่ รพ.ศรีนครินทร์ ม.ขอนแก่น แต่อาการทรุดลงเรื่อยๆ วันที่ 16 ก.พ.64 ติดเชื้อในกระแสเลือดจากเชื้อรา บ่งชี้ภูมิต้านทานไม่ดี ปอดทำงานไม่ดี หัวใจล้มเหลว กระทั่งเสียชีวิตในวันที่ 18 ก.พ.64 เวลา 01.19 น. แพทย์วิจนิจฉัยว่าเสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 แทรกซ้อนด้วยภาวะทางเดินหายใจและหลอดเลือด ทั้งนี้จากการสอบถามข้อมูลในการตรวจคนไข้ของ นพ.ปัญญา จะใส่หน้ากากและมีเฟซชิลด์อีก 1 ชั้น แต่พบว่าคนไข้ 1 คน มีไข้หลายวัน หมอจึงจำเป็นต้องใช้เวลาในตรวจนาน ตรวจดูการเคลื่อนไหวของลิ้นไก่ในลำคอ ให้หายใจแรงๆ เพื่อฟังเสียงว่ามีภาวะปอดอักเสบหรือไม่ จึงอาจทำให้มีละอองฝอยน้ำลายของผู้ป่วย หลุดเข้ามาในร่องหน้ากากของ นพ.ปัญญา ดังนั้นบุคคลากรทางการแพทย์ไม่ว่าจะปฏิบัติงานสถานที่ใด ต้องมีเครื่องป้องกันอย่างดี ในการทำหัตถการต้องสวมถุงมือ ส่วนการตรวจรักษาในคลินิก ห้องตรวจที่คับแคบ อากาศไม่ถ่ายเท ต้องเพิ่มความระมัดระวัง รวมถึงการนั่งที่ไม่เว้นระยะห่างกับผู้ป่วย