ปปช.แม่ฮ่องสอน เผยผลการตรวจสอบโซลาร์เซลล์พบ 10 จุด ใช้งานไม่ได้ตั้งแต่ต้น อีก 2 จุด เคยใช้งานได้ พบบางจุดตั้งอยู่ไกลจากแหล่งน้ำ และบางจุดตั้งอยู่ในพื้นที่น้ำหลาก พันตำรวจโท ศิระปรุฬห์ ปวเรศจิรวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยผลการตรวจสอบโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในหน่วยงานภาครัฐฯ (สูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์) ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ว่า ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีการดำเนินการทั้งสิ้น 12 จุด ในพื้นที่อำเภอสบเมย 1 จุด และอำเภอแม่เรียง 11 จุด ขณะนี้ได้ทำการลงพื้นที่ตรวจสอบเสร็จสิ้นทุกจุดแล้ว โดยพบว่าทั้ง 12 จุด ปัจจุบันไม่สามารถใช้การได้ และไม่ได้รับการดูแลรักษาทั้งตัวอุปกรณ์และสภาพแวดล้อม ขณะที่ผลจากการสอบถามประชาชนในพื้นที่โดยรอบผู้ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากโครงการ ปรากฏว่าหลังจากโครงการแล้วเสร็จเมื่อปี 2561 มีเพียง 2 จุดเท่านั้นที่ใช้การได้ และอีก 10 จุดใช้การไม่ได้ตั้งแต่ต้น ทั้งนี้ จากการตรวจสอบตัวโครงการ พบว่าหมดระยะเวลาประกันตั้งแต่ 2 ปี หลังแล้วเสร็จ ซึ่งในการส่งมอบงานระยะที่4 กำหนดว่าต้องมีการฝึกอบรมแก่หน่วยงานหรือประชาชนที่จะรับมอบโครงการไปดูแลต่อ ในเรื่องนี้ ปปช.ประจำ จ.แม่ฮ่องสอน จะดำเนินการตรวจสอบต่อไปว่าได้มีการอบรมจริงหรือไม่ และมีการส่งมอบผู้ดูแลต่อแล้วหรือยัง อย่างไรก็ตาม ผอ.สนง.ปปช.ประจำ จ.แม่ฮ่องสอน ตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุที่โครงการใช้การไม่ได้ เนื่องจากว่าบางจุดตั้งอยู่ไกลจากแหล่งน้ำจนเครื่องสูบน้ำมีแรงดันไม่เพียงพอต่อการผลักดันน้ำมากักเก็บ บางจุดตั้งอยู่ในพื้นที่น้ำหลาก เมื่อน้ำหลากมาเครื่องมือก็เสียหาย เป็นต้น นอกจากนี้ ยังพบว่าบางจุดมีไฟฟ้า และน้ำประปาภูเขาใช้อยู่แต่เดิม ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวต่อไปอีกว่า “ ขณะนี้ตนกำลังตรวจสอบว่ามีการตรวจรับงานกันอย่างไร ตรวจเสร็จตามสัญญากี่วัน เพราะมีการระบุว่าหลังสิ้นสุดสัญญาประกัน ปี ผู้รับผิดชอบโครงการจะต้องส่งมอบโครงการให้แก่หน่วยงานอื่นที่มีงบประมาณในการดูแลบำรุงรักษาได้ ซึ่งกำลังตรวจสอบว่าหน่วยงานใดได้รับช่วงต่ออย่างไร มีการฝึกอบรมการใช้ระบบแก่เจ้าหน้าที่และชุมชนตามที่ระบุใว้ในสัญญาหรือไหม่ รวมถึงการตรวจสอบการเปรียบเทียบราคากลางของค่าวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเสนอไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป สำหรับโครงการสูบน้ำพลังานโซล่าเซลล์เป็นโครงการที่กระทรวงพลังงานต้องการสูบน้ำเพื่อแก้ไขวิกฤติภัยแล้งให้แก่เกษตรกร แต่จากการตรวจสอบโครงการพบว่าไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าว จนถูกมองว่าคุ้มค่าประโยชน์กับประชาชนตามงบประมาณที่จัดสรรลงไปสูญเปล่าหรือไม่ อย่างไร ขณะนี้ สนง.ปปช.ประจำ จ.แม่ฮ่องสอน ได้รวบรวมข้อมูลทั้งหมดรายงานไปยัง ผู้บังคับบัญชาตามลำดับ เพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป นอกจากนี้ สนง.ปปช.ประจำ จ.แม่ฮ่องสอน เล็งจะตรวจสอบโครงการนี้ต่อในเรื่องของการเปรียบเทียบราคากลางของค่าวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการดำเนินโครงการทั้งหมดด้วย โครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในหน่วยงานภาครัฐฯ (สูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์) กอ.รมน.ภาค 3 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก กองทุนเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน วงเงินงบประมาณ 45,590,000 บาท ในการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์แก้ปัญหาภัยแล้งพร้อมระบบกรองน้ำในพื้นที่ 20 หมู่บ้าน ได้แก่ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก 8 หมู่บ้าน และ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน 12 หมู่บ้าน