วันที่ 15 ก.พ.64 กลุ่มนักวิชาการ จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้ร่วมกันนำหนังสือ ไปมอบให้กับ นายอานนท์ นำภา, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน), นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข, และนายปฏิวัฒน์ สาหร่ายแย้ม (หมอลำแบงค์) ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทั้งยังได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ ในกรณีดังกล่าว โดยมีนักวิชาการที่เข้าร่วม อาทิ ผศ.ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ,รศ.ดร. ยุกติ มุกดาวิจิตร ผศ.ดร. บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผศ.ดร. ประจักษ์ เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์ มีเนื้อหาดังนี้ “แถลงการณ์ คณาจารย์ 255 รายชื่อ 31 สถาบัน
ขอให้ศาลคืนสิทธิในการได้รับการประกันตัวระหว่างถูกดำเนินคดีแก่ผู้ถูกสั่งฟ้องจากการชุมนุม
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวแกนนำของการชุมนุมวันที่ 19-20 กันยายน 2563 รวม 4 คน ได้แก่ นายอานนท์ นำภา, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน), นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข, และนายปฏิวัฒน์ สาหร่ายแย้ม (หมอลำแบงค์) โดยให้เหตุผลว่า “หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยอาจไปก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีก” คณาจารย์ผู้มีรายชื่อแนบท้ายจำนวน 255 รายชื่อ 31 สถาบัน ขอให้ศาลได้พึงพิจารณาทบทวนคำสั่งไม่ให้ประกันตัว ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1. ขอให้ศาลพึงยึดหลัก “การสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยที่ถูกกล่าวหานั้นเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคําพิพากษาถึงที่สุด” (the principle of presumption of innocence) อันเป็นหลักการทางกฎหมายพื้นฐานที่สําคัญในการดําเนินคดี อีกทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ก็ยังบัญญัติไว้ในมาตรา 29 วรรค 2 ว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทําความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้”
นอกจากนี้ คำสั่งไม่ให้ประกันตัวที่วางอยู่บนการวินิจฉัยว่าจำเลยอาจไปก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา จึงเป็นเสมือนการตัดสินล่วงหน้าว่าการกระทำของผู้ถูกสั่งฟ้องเป็นการกระทำผิด ทั้งๆ ที่ กระบวนการไต่สวนยังไมได้เริ่มต้นและยังไม่มีคำพิพากษา เป็นการขัดกับหลักการและบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญข้างต้น (รายละเอียดในประเด็นนี้ ปรากฏอยู่ในแถลงการณ์ของคณาจารย์สาขานิติศาสตร์ และนักกฎหมายลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564)
2. การไม่ให้ประกันตัวในระหว่างถูกดำเนินคดี หากภายหลังศาลมีคำพิพากษาว่าผู้ถูกสั่งฟ้องไม่ได้กระทำความผิด สิทธิและเสรีภาพที่ถูกพรากไปจากการถูกจองจำระหว่างดำเนินคดีก็ไม่อาจเรียกคืนกลับมาได้ โดยเฉพาะนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ซึ่งเป็นนักศึกษาอยู่ การถูกจองจำจึงหมายถึงศาลได้ลิดรอนสิทธิในการศึกษาของนายพริษฐ์ไปด้วย
3. การฟ้องร้องดำเนินคดีที่เกิดขึ้นจำนวนมากต่อผู้ชุมนุมทางการเมืองในขณะนี้ รวมถึงที่มีนัดหมายสั่งฟ้องอีก 24 คนในวันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์นี้ มีรัฐบาลเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรง จึงเป็นธรรมดาที่เจ้าหน้าที่รัฐจะใช้มาตรการทางกฎหมายในการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมอย่างเกินกว่าเหตุ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่สถาบันตุลาการ จักต้องรักษาความเป็นอิสระและสมดุลของการปกป้องหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ เพื่อเป็นที่พึ่งของประชาชน
4. การให้ประกันตัวผู้ชุมนุมในคดีทางการเมืองอย่างที่ผ่านมา ช่วยประคับประคองไม่ให้ความขัดแย้งลุกลามบานปลายได้ค่อนข้างดี ตรงกันข้าม การไม่ให้ประกันตัว มีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งที่ขยายตัวรุนแรงยิ่งขึ้น
พวกเราที่ลงชื่อแนบท้ายนี้จึงขอเรียกร้องให้สถาบันตุลาการพึงทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เพื่อรักษาเกียรติยศของตนและศรัทธาของประชาชน
ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชน
15 กุมภาพันธ์ 2564
ทั้งนี้ องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สภานักศึกษา มหาวิทยาลัย ธรมมศาสตร์ ยังได้ร่วมอ่านแถลงการณ์ ต่อการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ ในเหตุที่บริเวณสนามหลวง เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ด้วย
ผศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวว่า หวังว่าศาล จะให้ความเมตตาและความยุติธรรมกับ พริษฐ์ ที่ยังเป็นนักศึกษา ลงทะเบียนเรียนในเทอมนี้อยู่ รวมถึงผู้ต้องหาอีก 3 ราย เพราะเพนกวิน จะได้ออกมาศึกษาต่อ วันนี้ เนื่องด้วยโควิด เรือนจำยังไม่ให้เข้าเยี่ยม ยกเว้นทนายเท่านั้น ซึ่งทางกลุ่มทนายความ กำลังยื่นเอกสารเข้าเยี่ยมอยู่
“เรามีความกังวล การจองจำในช่วงที่มีการพิจารณาคดี มีความแตกต่างกับการฝากขังของตำรวจ ถ้าอยู่ในขั้นตอนของตำรวจ ทำได้เป็นผลัดๆ จะได้รับการปล่อยตัวเมื่อตำรวจเสร็จสิ้น แต่ในกรณีนี้ อัยการส่งฟ้องไปที่ศาลแล้ว กำลังจะเริ่มพิจารณาคดี การไม่ให้ประกันตัว หมายความว่า ผู้ต้องหาจะถูกจองจำในคุก จนกว่าการพิจารณาจะเสร็จสิ้น ซึ่งในอดีต คดีในลักษณะนี้ ใช้เวลาการพิจารณา 5- 6 ปี หากไม่ได้ประกัน อาจจะต้องติดคุกยาวถึง 5-6 ปี จนกว่าคดีจะเสร็จสิ้น กรณีพริษฐ์ ถือว่าจะขาดจากการเป็นนักศึกษา และหมดอนาคตทางการศึกษา”
“คดีลักษณะเดียวกันนี้ จะมีขึ้นอีกในวันพุธนี้ อีก 24 คน มีนักศึกษาหลายคนอยู่ในนั้น หากไม่ได้รับการประกันตัวเช่นเดียวกัน ประชาชนจำนวนมากจะเข้าไปติดคุก”
ผศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวว่า อย่างไรก็จะต่อสู้ต่อไป เพราะสิทธิในการประกันตัว เป็นสิทธิของปวงชนชาวไทยทุกคน คดีทางการเมืองจำนวนมาก ได้รับการประกันตัว แกนนำเสื้อเหลือง เสื้อแดง กปปส. ก็ได้ประกัน