เครือข่ายผู้หญิงและผู้หญิงเพศหลากหลายในประเทศไทย ซึ่งติดตามการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบได้ร่วมกัน จัดงาน แถลงข่าวการติดตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) พร้อมจัดเสวนาในหัวข้อ “ประเทศไทย: สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานต้องนำมาปฏิบัติได้จริงสำหรับผู้หญิงทุกคน” ณ สถานทูตเนเธอร์แลนด์  ปรานม สมวงศ์  กล่าวถึงภาพรวมของอนุสัญญา CEDAW และสถานการณ์ของผู้หญิงในประเทศไทย นางสาวปรานม สมวงศ์ ตัวแทนจากองค์กรโปรเทคชั่นอินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า เป็นเวลาหนึ่งเดือนกว่าแล้วที่รัฐบาลไทยได้นำเสนอรายงานการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ หรืออนุสัญญา The Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women (CEDAW) ที่สำนักงานองค์การสหประชาชาติ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ โดยภายหลังการนำเสนอของรัฐบาลไทยคณะกรรมการ CEDAW ได้จัดส่งข้อคิดเห็นโดยสรุปต่อการรายงานของไทย ซึ่งคณะกรรมการฯ แสดงความห่วงกังวลเป็นอย่างยิ่งว่า นักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้หญิง ที่ทำงานรณรงค์ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิในที่ดิน การปกป้องสิ่งแวดล้อม สิทธิชนเผ่าพื้นเมือง สิทธิของคนชนบท เลสเบียน ไบเซ็กชัล หญิงข้ามเพศ และหญิงมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องตกเป็นเป้าหมายการฟ้องร้องดำเนินคดี การคุกคาม การใช้ความรุนแรงและการข่มขู่ที่เป็นผลจากการทำงานของพวกเธอโดยการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐและองค์กรธุรกิจ ซึ่งรัฐบาลไทยได้ชี้แจงและรับปากต่อคณะกรรมการ CEDAW ว่าจะดำเนินการแก้ไขในหลากหลายประเด็นที่เป็นข้อกังวลของคณะกรรมการ พักตร์วิไล สหุนาฬุ ตัวแทนเครือข่ายผู้หญิง อ่านแถลงการณ์ อย่างไรก็ตามภายหลังการนำเสนอรายงานการปฏิบัติตามอนุสัญญา CEDAW ของรัฐบาลไทยไม่กี่สัปดาห์ก็มีผู้หญิงในประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจากเจ้าหน้าที่รัฐและองค์กรธุรกิจเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ “แม่สุภาพ คำแหล้” ผู้หญิงชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เรื่องที่ดินที่สามีหายไปไร้ร่องรอย ที่ล่าสุดแม่สุภาพถูกสั่งจำคุก 6 เดือนในคดีรุกป่าสงวน ทั้งนี้ PI ได้ลงเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 ถึงปัจจุบันมีผู้หญิงอย่างน้อย 119 คน ที่ถูกฟ้องร้องขับไล่จากการต่อสู้เพื่อสิทธิขั้นพื้นฐานเพียงเพื่อจะเข้าถึงสิทธิในที่ดินทำกินและเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นคณะกรรมการ CEDAW ได้เสนอรัฐบาลไทยให้ลดขั้นตอนความยุ่งยากในการเข้าถึงกองทุนยุติธรรม แต่ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมามีผู้หญิงมากกว่า 7 ชุมชนโดยทั้งหมดแทบจะไม่ได้เข้าถึงกองทุนยุติธรรม ถึงแม้บางกรณีเข้าถึงแต่ต้องผ่านการอุทธรณ์แล้วอุทธรณ์อีก ด้าน นางวิรอน รุจิไชยวัฒน์ ตัวแทนจากกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด กล่าวว่า ภายหลังจากที่ตนได้เข้าร่วมการประชุมอนุสัญญา CEDAW ที่ผ่านมา ก็มีความหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในการคุ้มครองผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เพราะรัฐบาลได้ยืนยันกับคณะกรรการ CEDAW ว่าจะคุ้มครองนักต่อสู้ผู้หญิงทุกคน แต่ยังไม่ทันพ้นเดือน ก็มีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิที่ต้องถูกดำเนินคดี โดยกรณีที่ชัดที่สุดที่เพิ่งผ่านพ้นมาคือกรณีของแม่สุภาพ คำแหล้ ภรรยาของพ่อเด่น คำแหล้ ที่ถูกบังคับให้สูญหาย โดยกรณีของแม่สุภาพเป็นการถูกตัดสินจำคุกทั้งๆ ที่ต่อสู้เพื่อได้สิทธิที่จะอยู่จะอยู่และทำกินในที่ดินของตนเอง และที่น่าตกใจคือกรณีของแม่สุภาพมีข้อตกลงกับรัฐบาลที่ชัดเจนว่าจะสามารถอยู่และทำกินบนที่ดินผืนนั้นได้ นอกจากนี้
ยังมีความน่าเป็นห่วงกรณีที่ รัฐบาลกำลังเตรียมประกาศใช้ พรบ.แร่ฉบับใหม่ ที่ให้อำนาจรัฐในการจัดสรรเอกให้เอกชนสามารถเข้าทำมาเหมืองแร่ได้ ไม่ต้องผ่านกระบวนการรับฟังเสียงของประชาชนหรือกระบวนการรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)
ตัวแทนจากกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดกล่าวอีกว่า พรบ.แร่ฉบับใหม่เพราะเป็น พรบ.ที่ชุมชนและผู้หญิงจากหลายครอบครัวไม่ได้มีส่วนร่วมและจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน สิ่งที่รัฐจะต้องทำคือต้องให้ความคุ้มครองผู้หญิงเหล่านี้ตามที่รัฐบาลได้รับปากกับคณะกรรมการ CEDAW โดยคณะกรรมการ CEDAW ได้มีข้อเสนอแนะและความเป็นกังวลที่เสนอกลับมายังรัฐบาลไทยหลายข้อ โดยในข้อกังวลและข้อเสนอแนะที่ 30 และ 31 ของกรรมการ CEDAW ระบุให้รัฐต้องคุ้มครองผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดี และในข้อที่ 42 ยังระบุให้รัฐต้องสร้างหลักประกันให้กับผู้หญิงที่ใช้ประโยชน์จากที่ดินของตนเอง นอกจากนี้คณะกรรมการ CEDAW ได้ให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยในข้อ 43 ให้สร้างหลักประกันให้ผู้หญิงที่อยู่ในชนบทจะต้องมีส่วนร่วมในแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ ปรีดา - วิรอน - ไหม ขณะที่ นางปรีดา ปานเมือง ตัวแทนจากเครือข่ายสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ กล่าวว่า ภายหลังจากการที่เรากลับมาจากการประชุม CEDAW ผู้หญิงในหลายๆ ชุมชนที่เป็นสมาชิกของ สกต.ก็ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐ โดยเฉพาะในขณะนี้ชุมชนก้าวใหม่ที่เป็นพื้นนำร่องการดำเนินการโฉนดชุมชนได้รับผลกระทบจากนโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ที่ได้มีคำสั่งให้มีการจัดสรรที่ดินใหม่ โดยขณะนี้ได้มีการนำรถไถมากวาดทำลายผลผลิตทางการเกษตรในรูปแบบโฉนดชุมชนของชาวบ้านที่ปลูกพืชและอาหารที่มีความหลากหลายเอาไว้บริโภคและนำไปจำหน่ายทำให้สมาชิกผู้หญิงมีรายได้จากการปลูกพืชในรูปแบบโฉนดชุมชน ซึ่งคำสั่งของ คทช.ทำให้ผลผลิตถูกทำลายและวิถีชีวิตของผู้หญิงในชุมชนต้องเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งในความจริงแล้วกระบวนการในการพัฒนา จะต้องเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย และแผนด้านการเกษตรกรและการพัฒนาชนบท เหมือนดังที่คณะกรรมการ CEDAW ได้จัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาลไทยมา นอกจากนี้แล้วยังมีผู้หญิงชนบท และผู้หญิงชาติพันธุ์อีกเป็นจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า ซึ่งคณะกรรมการ CEDAW ได้เสนอให้รัฐบาลต้องสร้างหลักประกันว่าผู้หญิงชนบทต้องมีส่วนร่วมในแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติในการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่วน นางไหม จันตา ตัวแทนจากมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ กล่าวว่า มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์เกิดขึ้นพร้อมกันกับที่รัฐบาลไทยเซ็นร่วมอนุสัญญา CEDAW ที่มีกฎหมายและนโยบายมากมายใช้กับเราเมื่อ 32 ปีที่ผ่านมา เราเป็นผู้หญิงบริการ และไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงที่ต่อสู้เรื่องที่ดิน หรือต่อสู้เรื่องเหมืองแร่ ก็เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐ พนักงานบริการเราก็ไม่ต่างกันเรายังคงถูกเลือกปฎิบัติไม่ต่างจากผู้หญิงกลุ่มอื่นๆ พวกเราเป็นคนที่มาจากชนบท จำเป็นต้องมีที่ดินทำกินให้ครอบครัว เราหลายคนเป็นผู้นำครอบครัว อาชีพของเราคือการทำงานไม่ต่างจากอาชีพอื่นที่ควรได้รับความคุ้มครอง แต่ที่ผ่านมาเราไม่เคยได้รับการปฏิบัติด้วยการคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีกฎหมายและนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและการทำงานของเราเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการล่อซื้อและบุกทลาย และการค้าประเวณีถึงแม้จะมีความผิดก็ไม่ได้หมายเจ้าหน้าที่รัฐหรือใครจะกระทำอย่างไรกับเราก็ได้ ซึ่งคณะกรรมการ CEDAW ได้มองเห็นว่าการทำงานของพวกเราต้องได้รับการคุ้มครองตามกฏหมายแรงงาน โดยคณะกรรมการ CEDAW ได้ระบุในข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยในข้อ 27 ให้รัฐบาลไทยหยุดการล่อซื้อบุกทลาย และทบทวน พรบ.ปรามการค้าประเวณีให้ไม่มีความผิดทางอาญา และภายใต้กฎหมายแรงงานพนักงานบริการต้องได้รับการคุ้มครอง "รัฐบาลไทยต้องเร่งดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ CEDAW เหล่านี้ให้เป็นรูปธรรมซึ่งเราเอ็มพาวเว่อร์จะเฝ้าระวังและติดตามการทำงานของรัฐบาลอย่างใกล้ชิดว่า ได้ดำเนินการเพื่อที่จะปกป้องคุ้มครองผู้หญิงทุกๆ กลุ่มอย่างเป็นรูปธรรมได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร" ตัวแทนจากมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ การเสวนาครั้งนี้ยังมีตัวแทนจากโครงการ SHEro เพื่อลดความรุนแรงในครอบครัว ตัวแทนจากมูลนิธิผู้หญิง ที่ได้พูดถึงผลกระทบของผู้หญิงในอีกหลากหลายประเด็นและตัวแทนเครือข่ายผู้หญิงยังได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ร่วมเครือข่ายผู้หญิงและผู้หญิงเพศหลากหลายในประเทศไทยที่ติดตามการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ - ฝากข่าวประชาสัมพันธ์ได้ที่ [email protected] ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ เพจ “สยามรัฐ สตรี-เยาวชน”