22 สิงหาคม 2560 เป็นเวลาเกือบ 60 ปีแล้ว หลังจากที่มีการค้นพบไข้เลือดออกเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2501 ประเทศไทยได้มีแนวทางการป้องกันไข้เลือดออกด้วยวิธีการให้ความรู้แก่ประชาชนและมีมาตรการควบคุมยุงลาย ซึ่งเป็นตัวพาหะนำโรค มาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการระบาดของโรคไข้เลือดออก ยังคงเกิดขึ้นทั่วประเทศตลอดเวลา ทุกจังหวัด ทุกอำเภอ ทุกเพศ ทุกวัย ดังนั้นการที่ประเทศไทยมีการอนุมัติโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ให้ใช้วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ซึ่งมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการป้องกันโรคได้ จึงนับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับการป้องกันไข้เลือดออกแบบองค์รวม ความรุนแรงและผลกระทบจากโรคไข้เลือดออก ปัจจุบัน โรคไข้เลือดออก ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่สายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งใน 4 สายพันธุ์ โดยมียุงลายเป็นพาหะ ยังคงเป็นโรคที่น่ากลัวและเป็นโรคที่เฉียบพลัน ผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออกอาจมีอาการรุนแรง นำไปสู่ภาวะเลือดออกและภาวะแทรกซ้อนที่อวัยวะต่างๆ เช่น อาการทางสมอง หรือ ตับ เป็นต้น จนกระทั่งเสียชีวิตได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ประตาป สิงหศิวานนท์ คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ในรอบสิบปีที่ผ่านมา แม้ว่าอัตราผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกจะลดลงเนื่องจากเทคโนโลยีการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น แต่เรากลับพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใหญ่ ขณะนี้มีงานวิจัยบ่งชี้ว่ากลุ่มผู้ที่ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการก็มีจำนวนที่สูงมากประมาณ 3 เท่าของผู้ป่วยที่มีอาการ ที่สำคัญและน่าเป็นห่วงคือ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่สามารถแพร่เชื้อผ่านยุงลายไปยังผู้อื่นได้มากกว่า 10 เท่า ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับการป้องกันในระดับสาธารณสุขของประเทศ” ในแง่ของผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประเทศในด้านเศรษฐกิจนั้น ประเทศไทยสูญเสียเงินไปกับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโรคไข้เลือดออกสูงมากถึง 290 ล้านบาท ซึ่งมากเป็นอันดับ 2 ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากประเทศอินโดนิเซีย