แม้ไม่เหนือความคาดหมาย เพราะได้กลิ่นโชยกรุ่นๆ มาตลอด แต่หลายฝ่ายก็อดตระหนกใจเสียมิได้ สำหรับ ฉาก “รัฐประหาร” ยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนโดยกองทัพ ที่ประเทศเมียนมา เมื่อช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 1 ก.พ. ที่เพิ่งผ่านพ้นมา โดยที่นับว่า ออกอาการตื่นตระหนกยิ่งกว่าฝ่ายใด ก็เห็นจะเป็นบรรดาชนกลุ่มน้อยต่างๆ ในประเทศเมียนมา ที่มีจำนวนนับสิบกลุ่ม เช่น กะฉิ่น กะเหรี่ยง ไทใหญ่ อาระกัน และมอญ เป็นอาทิ ซึ่งล้วนมีปัญหาพิพาทกับ “ชาวพม่า (Bamar)” อันเป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศเมียนมา คือ ร้อยละ 68 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และยังถือบังเหียน กุมอำนาจสูงสุด ปกครองประเทศ จนถึงลุกลามบานปลายเป็นสงครามเดือด หลังจากที่ต่างฝ่าย ต่างจับอาวุธ จัดตั้งกองกำลังเข้าห้ำหั่นกัน ตามที่ปรากฏในฉากละเลงเลือดสงครามชนกลุ่มน้อยในเมียนมา นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ เจ้อาณานิคม เมื่อหลายสิบปีเป็นต้นมา จนถึงช่วงทศวรรษล่าสุด อาทิ เหตุปะทะกันระหว่างกองกำลังติดอาวุธของพวกกะฉิ่นกับกองทัพรัฐบาลเมียนมา หรือตั๊ดมาดอว์ และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจาที่รัฐยะไข่ ซึ่งเป็นสงครามละเลงเลือดเขย่าขวัญไปทั่วโลก เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เป็นต้น ภายหลังรัฐประหารที่ไร้เลือดเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา สร้างความวิตกกังวลต่อบรรดาชนกลุ่มน้อยทั้งหลายว่า การสงครามนองเลือด จะบังเกิดขึ้นกับพวกเขาอีกครั้ง และจะเป็นไปแบบครั้งใหญ่ ชนิดเลือดท่วมท้องช้าง เฉกเช่นใน “ยุคเผด็จการทหารครองเมือง” ก่อนหน้าที่เมียนมาจะมี “รัฐบาลพลเรือน” ของ “นางออง ซาน ซูจี” ที่เพิ่งถูกยึดอำนาจไป เพราะขนาดในยุคเมียนมา เปลี่ยนผ่านอำนาจมาสู่รัฐบาลพลเรือน ภายใต้การนำของสัญลักษณ์ประชาธิปไตย อย่างนางออง ซาน ซูจี สถานการณ์สู้รบ และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ก็ยังมีดีกรีเดือด ละเลงเลือดอย่างที่เห็น อย่างกรณีการสู้รบระหว่าง “กองทัพตั๊ดมาดอว์” กับ “กองกำลังติดอาวุธของพวกกะฉิ่น” ในรัฐกะฉิ่น และ “เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจา” ในรัฐยะไข่ จนบรรดาประเทศเพื่อนบ้าน ต้องได้รับผลกระทบ พลอยเดือดร้อน กันไปทั่ว แม้กระทั่งไทยเราด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีหลัง นั่นคือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจา จนเกิดกระแสคลื่นอพยพของชาวโรฮีนจา จำนวนหลายแสนคน ลักลอบเข้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ เช่น บังกลาเทศ มาเลเซีย และไทย เป็นต้น ทั้งนี้ กรณีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ดังกล่าว ยังกระเทือนถึงภาพลักษณ์ด้านนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนของ “นางออง ซาน ซูจี” โดยเธอพลอยได้รับเสียงตำหนิวิจารณ์ด้านลบจากนานาชาติไปด้วย ถึงขนาดถูกเพิกถอนการประกาศเกียรติคุณต่างๆ จากนานาชาติ และองค์การระหว่างประเทศ แบบลงโทษกันอยู่กลายๆ กันเลยทีเดียว ขณะที่ พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย” ในฐานะ “ผบ.สส.” แห่งกองทัพตั๊ดมาดอว์ ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เชิงลบจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติ หรือยูเอ็นว่า สมควรที่จะถูกนำตัวมาไต่สวนว่า เป็นอาชญากรสงครามจากกรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจา ในรัฐยะไข่ เลยด้วยซ้ำ นอกเหนือจากการถูกคว่ำบาตรจากนานาชาติแล้ว เหล่านักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า หลังการเถลิงอำนาจขึ้นเป็น “ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ” ของ “พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย” อีกตำแหน่งนอกเหนือจาก “ผู้นำสูงสุดของกอทัพตั๊ดมาดอว์” ภายหลังจากทำรัฐประหาร จนมีอำนวจสูงสุดทั้งการบริหาร การปกครอง และกองทัพ ซึ่งไม่ผิดอะไรกับผู้มีอำนาจการปกครองที่ถือปืนอยู่ในมือ ก็สร้างความปริวิตกกังวลว่า ไฟสงครามกำราบชนกลุ่มน้อยต่างๆ จะปะทุคุโชน และถูกโหมให้แรงกล้ายิ่งขึ้น เฉกเช่นยุคสมัยที่เผด็จการทหารครองเมือง ไม่นับเรื่องการเจรจาข้อตกลงสันติภาพ หรือแม้กระทั่งข้อตกลงหยุดยิง ที่หวั่นเกรงว่า อาจต้องพบกับการสะดุด ไปจนถึงขั้นกาลสิ้นสุดไปเลยก็ว่าได้ พร้อมกับฉากการละเลงเลือดครั้งใหญ่ในสงครามปราบปรามชนกลุ่มน้อย ที่อาจจะหวนกลับมาบังเกิดขึ้นกันอีกคำรบ