"เสธ.หมึก" พลเอกเดชา เหมกระศรี นายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหาร หรือ Management Committee ของสหพันธ์จักรยานนานาชาติ (ยูซีไอ) จัดการประชุมคณะกรรมการฯ ล่าสุด เมื่อวันที่ 3-4 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ผ่านแอปพลิเคชัน "ซูม" เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงเป็นปัญหาไปทั่วทุกมุมโลก โดยเนื้อหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการจัดการแข่งขันจักรยานในระดับนานาชาติ ก็คือมาตรการความปลอดภัยที่เข้มงวดขึ้นและมีเพิ่มเติมในหลายประเด็น สำหรับการแข่งขันจักรยานประเภทถนนที่บรรจุในปฏิทินจักรยานนานาชาติของ ยูซีไอ พลเอกเดชา กล่าวว่า มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการจัดการแข่งขันนานาชาติของไทยอย่างจักรยานทางไกล "ทัวร์ ออฟ ไทยแลนด์" ที่โดยปกติก็มีมาตรฐานความปลอดภัยเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติอยู่แล้ว ผลสรุปจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารฯ ที่มีผลกระทบมากที่สุดก็คือการประกาศจัดการแข่งขันจักรยาน "บีเอ็มเอ็กซ์ เวิลด์คัพ ซูเปอร์ครอส" ในปีนี้ หรือฤดูกาล 2021 ทั้งสิ้น 8 สนาม ใน 3 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศเยอรมนี 2 สนาม ประเทศโคลอมเบีย 2 สนาม และประเทศตุรกี 4 สนาม เนื่องจากการเก็บคะแนนสะสมนักปั่นบีเอ็มเอ็กซ์เพื่อให้ได้โควต้าในโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ซึ่งเลื่อนมาแข่งขันกันในเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม 2564 ยังไม่แล้วเสร็จ และนักปั่นไทยก็ยังคงมีโอกาสเนื่องจากอันดับในคะแนนสะสมโอลิมปิกยังคงมีลุ้นเนื่องจากอันดับคัดโอลิมปิกทั้งประเภทชายและหญิงของไทยยังติดอยู่ในท็อป 15 ในขณะที่อันดับประเทศนั้นจะคัดเอาอันดับ 1-11 ได้โควต้าทันที นอกจากนี้ นักปั่นไทยยังจะมีลุ้นในการทำอันดับคะแนนสะสมบุคคลให้ดีที่สุดเพื่อลุ้นคว้าโควต้าในอีกทางหนึ่งด้วย นายกสองล้อไทย กล่าวอีกว่า จากการหารือร่วมระหว่างฝ่ายเทคนิคของสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ กับสตาฟฟ์โค้ชบีเอ็มเอ็กซ์ ทั้ง มร.อดัม แครี่ ผู้ฝึกสอนชาวออสเตรเลีย และ นายอัถร ไชยมาโย ผู้ฝึกสอนชาวไทย ได้ข้อสรุปว่าจะส่งทีมชาติไทยอันประกอบด้วยนักปั่นที่เป็นตัวยืนทั้ง สิบตรี โกเมธ สุขประเสริฐ ในรุ่นประชาชนชาย น.ส.ชุติกาญจน์ กิจวานิชเสถียร และ น.ส.วรัญญา แซ่แต้ สองตัวยืนฝ่ายหญิงเข้าร่วมการแข่งขันที่เมืองสตุตการ์ต ประเทศเยอรมนี 2 สนาม ระหว่างวันที่ 8-9 พฤษภาคม และอีก 2 สนามที่โบโกตา ประเทศโคลอมเบีย ระหว่างวันที่ 29-30 พฤษภาคม แน่นอน เนื่องจากเป็นสนามที่อยู่ในห้วงเวลาการเก็บคะแนนสะสมคัดโอลิมปิก "โคเกียว 2020" ในขณะที่อีก 4 สนามที่ประเทศตุรกี จะจัดการแข่งขันในเดือนตุลาคม 2564 ก็จะพิจารณาส่งนักกีฬาเข้าร่วมหรือไม่อีกครั้ง เนื่องจากเลยช่วงเวลาการคัดโอลิมปิกและการแข่งขันโตเกียวเกมส์ไปแล้ว พลเอกเดชา กล่าวต่อไปว่า นอกเหนือจากนักปั่นตัวยืนดังกล่าวแล้ว สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ ก็พร้อมที่จะพิจารณานักปั่นฝีมือดีที่มีพัฒนาการเป็นที่น่าพอใจเข้าร่วมทัพนักปั่นทีมชาติไทยเพื่อลุ้นเก็บคะแนนเพิ่มในการส่งแข่ง เวิลด์คัพ ซูเปอร์ครอส ทั้ง 4 สนามที่ประเทศเยอรมนี และประเทศโคลอมเบีย โดยมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของสตาฟฟ์โค้ชพิจารณาตามความเหมาะสม "สิ่งที่สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ ต้องเร่งดำเนินการโดยด่วนก็คือการจัดหางบประมาณทั้งเรื่องการฝึกซ้อมและเดินทางไปแข่งขันใน 4 สนาม ที่ประเทศเยอรมนี และประเทศโคลอมเบีย นอกจากนั้นก็ยังจะต้องดำเนินการจัดการเรื่องเอกสารการเดินทาง การขอวีซ่า รวมไปถึงจัดหาเที่ยวบินที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการเดินทาง พิธีการทางการทูต การตรวจคนเข้าเมืองของแต่ละประเทศที่ยุ่งยากมากขึ้นเนื่องจากมาตรการทางสาธารณสุข และการจำกัดการเดินทาง ทำให้การทำงานมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น แต่สมาคมกีฬาจักรยานฯ ก็จะพยายามบริหารจัดการทุกด้านให้ลุล่วงเพื่อให้นักปั่นไทยมีโอกาสได้ลุ้นเก็บคะแนนสะสมเพื่อเป้าหมายการได้โควต้าโอลิมปิกเกมส์เพิ่มขึ้นให้มากที่สุดต่อไป"