ใครจะเชื่อว่าสุภาพสตรีที่นั่งแท่นผู้บริหารระดับสูงในตำหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่แห่งบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนชั้นนำของประเทศไทย ซึ่งกำลังเป็นที่จับตาในวงการซีเอสอาร์ ด้วยวิสัยทัศน์ที่โดดเด่นเน้น “ปลูกป่าในใจคน” ตามรอยเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อคืนพื้นที่สีเขียวกลับสู่ประเทศจากโครงการ “คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน” จะเคยมีบางมุมที่พลิกชีวิตและมีแนวคิดที่น่าทึ่ง ก่อนจะก้าวเข้ามาสู่เส้นทางป่าชุมชน บุญทิวา ด่านศมสถิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เผยว่า เดิมทำงานด้านบริหารมาตลอดนับตั้งแต่เริ่มต้นชีวิตการทำงานที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พอย้ายมาบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ก็มารับหน้าที่เลขานุการบริษัท พร้อมกับดูแลงานบุคคลและสำนักงาน เมื่อได้ทราบว่าต้องมาทำงานซีเอสอาร์ (CSR - Corporate Social Responsibility) ตอนแรกก็คิดเหมือนกันว่าเราจะทำได้ดีหรือเปล่า เพราะจากที่เคยอยู่แต่ในสำนักงาน ก็จะต้องมาลงพื้นที่ทำงานสนามซึ่งเป็นบทบาทที่ไม่เคยทำมาก่อนภารกิจที่ได้รับมอบหมายคือให้ดูแลงานความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของบริษัท ซึ่งต้องตอบสนองความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ทั้งผู้ถือหุ้น คู่ค้า พันธมิตร สังคม ชุมชน ตลอดจนพนักงานและผู้บริหารในบริษัทด้วย ทั้งนี้งานซีเอสอาร์เป็นงานที่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายให้ความสำคัญ จึงเป็นความจำเป็นของเราที่จะต้องศึกษาเรียนรู้และสร้างความรักในงานซีเอสอาร์ เพื่อให้กระบวนการทำงานและผลของงานออกมาดีที่สุด และเมื่อได้ลงมือทำงานจริงก็ได้พบว่าในการที่จะทำงานซีเอสอาร์ให้ดีนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องใช้หลักวิชาการที่ซับซ้อนเลย
สิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่ว่าเรามีความจริงใจ มีความตั้งใจจริง มีความมุ่งมั่น มีความรักและทุ่มเท เพื่อที่จะให้งานเดินไปได้ตามวัตถุประสงค์
ปัจจัยความสำเร็จของงานซีเอสอาร์ประกอบด้วยสองส่วนที่สำคัญ ส่วนแรกคือ “ภายในบริษัท” ซึ่งมีผู้บริหารระดับสูง คณะกรรมการ ผู้ถือหุ้น และพนักงานทุกระดับ ดังนั้นโครงการต่างๆ ที่เราริเริ่มและสานต่อจะต้องตอบสนองวิสัยทัศน์และพันธกิจของบริษัท เพื่อให้ได้รับความเห็นชอบและสนับสนุนทรัพยากรในการทำงานซึ่งรวมถึงงบประมาณด้วย และส่วนที่สองคือ “พันธมิตร” อย่าง“โครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน” มีพันธมิตรที่สำคัญคือ กรมป่าไม้ ชุมชน และหน่วยงานในท้องถิ่น ซึ่งจะให้ความร่วมมือร่วมใจขับเคลื่อนโครงการของเรา ที่สำคัญการเลือกโครงการและกิจกรรมนั้น ไม่เพียงแต่ตอบสนององค์กรและชุมชนเท่านั้น เราจำเป็นต้องคำนึงถึงกระแสต่างๆ ทั้งกระแสสังคมและกระแสโลก ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ SDGs (Sustainable Development Goals) เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายรวมถึงตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสำคัญ เราก็ได้เชื่อมโยงเข้ากับงานของเราเช่นกัน “เรามีกิจกรรมที่ทำต่อเนื่องหลากหลาย แต่งานป่าชุมชนถือเป็นกิจกรรมซีเอสอาร์หลักของเรา การเลือกกิจกรรมนี้ตกผลึกจากการพิจารณาร่วมกันของผู้บริหารและพนักงาน ทุกคนตระหนักดีว่าเราใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการทำธุรกิจของเรา จึงควรตอบแทนด้วยการดูแลรักษา และทรัพยากรสำคัญที่ทุกคนเห็นตรงกันว่าควรให้การดูแลก็คือป่าไม้ ที่นับวันจะเสื่อมโทรมและมีพื้นที่ลดน้อยลง อย่างไรก็ตามองค์กรของเรามีกำลังที่จะดูแลเรื่องนี้ไม่มากนัก ทำเองลำพังก็คงไม่ง่ายที่จะสำเร็จ จึงมองหาผู้ที่จะมาช่วยเรา และได้เลือก “กรมป่าไม้” เพราะเป็นผู้มีองค์ความรู้ทางวิชาการและเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายด้วย โดยในช่วงเริ่มโครงการเป็นช่วงที่เพิ่งเริ่มแนวคิดป่าชุมชน ซึ่งมีหลักการใหญ่คือการที่ทำให้ชุมชนมีความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของ นั่นคือสามารถใช้ประโยชน์ได้ เนื่องจากคนเราจะมองตัวเองก่อน แล้วจึงค่อยๆมองขยายออกไป คือใช้กับครอบครัวของเขาได้ ใช้กับชุมชนของเขาได้ เขาก็จะดูแลรักษาให้ดียิ่งๆขึ้น และต้องใช้การมีส่วนร่วมของชุมชน โดยอย่างแรกการจะยื่นขอจดทะเบียนเป็นป่าชุมชน คนในชุมชนจะต้องรวมตัวกันอย่างน้อย 25 คนเพื่อเสนอเรื่อง และตั้งเป็นคณะกรรมการป่าชุมชน ร่วมกันคิด ร่วมกันวางแผน และร่วมกันทำงาน การมีส่วนร่วมนี้เองจะทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและพึ่งพิงตนเองได้ ชุมชนจะกำหนดกติกากันเองซึ่งทำให้สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างเกื้อกูล ป่าชุมชนบางแห่งมีการนำรายได้บางส่วนที่ได้จากการเก็บหาผลิตผลจากป่าเข้ามารวมเป็นกองทุนเพื่อเอาไว้ดูแลรักษาป่าของพวกเขา เช่น การปลูกต้นไม้เสริม ทำแนวกันไฟ บวชป่า และกิจกรรมต่างๆ” บุญทิวากล่าว เราได้น้อมนำหลักการทรงงาน “ปลูกป่าในใจคน” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ในการดำเนินงานโครงการนี้ โดยมี 3 กิจกรรมหลักภายใต้โครงการ ประกอบด้วย การประกวดป่าชุมชน การสัมมนาผู้นำเครือข่ายป่าชุมชน และค่ายเยาวชนกล้ายิ้ม ซึ่งล้วนมีเป้าหมายเพื่อรณรงค์ปลุกและปลูกจิตสำนึกให้เกิดความรัก ความเข้าใจ ตระหนักในความสำคัญของป่าไม้ทั้งสิ้น เมื่อเริ่มงานใหม่ที่มีลักษณะแตกต่างไปจากงานเดิมอย่างมาก เพื่อนและผู้เกี่ยวข้องอาจเกิดความห่วงใยว่าจะทำงานนี้สำเร็จได้หรือไม่ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อธิบายให้ฟังว่า การทำงานใดที่จะให้ประสบความสำเร็จนั้น คนทำควรกำหนดตัววัดความสำเร็จในงานของตน (KPI-Key Performance Index) สำหรับตนเองนั้น เมื่อเข้ารับหน้าที่ใหม่ก็เริ่มจากเรียนรู้และปรับตัวจากลักษณะงานที่เคยอยู่ในสำนักงาน ต้องออกมาลงพื้นที่เอง และคิดว่าเราจะสื่อสารอย่างไรเพื่อให้ชุมชนได้รับรู้ถึงความจริงใจของบริษัท เพราะส่วนใหญ่คนจะมองว่าเราจะมาเอาอะไรหรือเปล่า ซึ่งเราก็ไม่ได้เอาและเราก็ไม่ได้ให้ แต่ตนเองมีหลักคิดว่าเราจะมาร่วมมือกันทำประโยชน์มากกว่า เพราะฉะนั้นทุกโครงการที่ทำ เราไม่ได้ให้ ไม่ได้ให้เงินบริจาค ไม่ได้ให้อะไรทั้งสิ้น แต่เป็นในลักษณะเราสนับสนุนเรื่องนี้ คุณสนับสนุนเรื่องนั้น คือทั้งสองฝ่ายต้องร่วมมือกัน ซึ่งก็คือซีเอสวี (CSV -Creating Shared Value) คือสร้างคุณค่าร่วมกัน เราเป็นพนักงานคนหนึ่งของบริษัท เมื่อได้รับมอบหมายอะไร เราก็ต้องทำให้สำเร็จ การที่บริษัทมอบหมายให้เรา แสดงว่าต้องคิดว่าเราทำได้ ต้องเห็นอะไรบางอย่างที่คิดว่าเรารับได้ โดยส่วนตัวแล้ว คิดว่า การได้รับมอบหมายงานใหม่ ต้องถือว่าเราได้รับโอกาสใหม่ เราเชื่อมั่นว่าเราสามารถเรียนรู้และทำได้ทุกงาน อย่างหนึ่งอาจเป็นเพราะเรียนมาทางด้าน “อักษรศาสตร์” และ “บริหารธุรกิจ” ซึ่งเป็นฐานความรู้ที่ทำให้เราสามารถปรับตัวรับอะไรใหม่ๆได้เสมอ อาจจะทำได้ง่ายกว่าคนที่เรียนมาทางวิชาชีพเฉพาะ อีกอย่างการทำงานไม่ได้ใช้สิ่งที่เราเรียนมาจากในมหาวิทยาลัยทั้งหมด แต่เป็นสิ่งที่เราต้องศึกษาหาความรู้และทักษะใหม่ๆ และปรับใช้ในงานของเรา “อย่างไรก็ตามตนเองเชื่อว่าเราสามารถทำได้ทุกอย่าง ถ้ามีความรักและตั้งใจทำ และก็เชื่อมั่นว่าผู้บังคับบัญชาดูแล้วว่าเราทำได้ พอเรามีความเชื่อมั่นในสองอย่าง คือ เชื่อมั่นในองค์กร เชื่อมั่นในตนเอง เราก็ทำได้ทั้งนั้น” บุญทิวากล่าวทิ้งท้าย "ศุภลักษณ์ หัตถพนม"