"ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ทำให้เราได้ฉุกคิดว่าในระยะยาวจะเป็นอย่างไร ถ้าเราไม่เล่นการเมืองแล้ว สิ่งหนึ่งที่พบคือเราชอบเขียนหนังสือ เขียนบทความ และคิดว่าในระยะยาวถึงช่วงที่มีอายุมากๆ ก็สนใจเรื่องการปลูกผัก ทำสวน" สัมผัสความสุข สไตล์ ชิค แอนด์ ชิล กับ "รัชดา ธนาดิเรก" นักการเมืองหญิงจากค่ายสีฟ้า เรื่อง: พัชรพรรณ โอภาสพินิจ ภาพ: ณวพงศ์ ม่วงศิริธรรม "เวลาเราเอ่ยถึง นักการเมือง มันจะมีความรู้สึก หรือถูกมองเป็นภาพลบ แต่ถ้าเราบอกว่าอาชีพของเราคือ ผู้แทนประชาชน มันมีความหมาย มันคือการที่เราได้ดูแลพี่น้องประชาชน เป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชน ไปออกกฎหมาย ไปติดตาม ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล มันมีความหมายมาก ทำให้เราเห็นคุณค่ากับอาชีพนี้มากขึ้นกว่าเดิม" น้ำเสียงใสๆ ที่ฟังแล้วมีเสน่ห์ ประกอบกับการตอบคำถามที่ดูฉะฉานของนักการเมืองหญิงคนเก่งจากพรรคประชาธิปัตย์ กำลังเล่าถึงความรู้สึกหลังจากเข้ามาเดินอยู่บนเส้นทางสายการเมือง ผู้หญิงเก่ง สาวแกร่งคนนั้นไม่ใช่ใครที่ไหน เธอคือ "ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก" หรือ ดร.กานต์ อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตอาจารย์ประจำ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งวันนี้ "รื่นรมย์คนการเมือง" จะพาผู้อ่านทุกท่าน ไปทำความรู้จักกับสาวสวยคนเก่งคนนี้ให้มากขึ้น พร้อมกับติดตามอัพเดทกิจกรรมภายหลังจากว่างเว้นงานด้านการเมือง @ จาก "นักวิชาการ" สู่ถนนสายการเมือง ดร.กานต์ เล่าถึงเส้นทางก่อนที่จะเข้าสู่ถนนสายการเมืองให้เราฟังว่า หลังจากเรียนจบ ม.4 แล้วก็เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยมหิดล และเรียนจบตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 20 ปี จากนั้นได้ศึกษาต่อระดับปริญญาโท 2 สาขา คือ สาขากลยุทธ์องค์กรและบรรษัทภิบาล จากมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ และสาขาการจัดการบัญชีและการเงินระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยน็อตติงแฮม และปริญญาเอก ด้านธุรกิจระหว่างประเทศ จาก สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) เจ้าตัวเล่าต่อว่า ความต้องการตอนนั้นหลังจากเรียนจบคืออยากทำงานบริษัท ไฟแนนซ์ การเงิน การธนาคาร แต่ช่วงนั้นเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ทุกอย่างปิดหมด จึงเบนเข็มความตั้งใจไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยมหิดล หลังจากนั้นช่วงปี 2549 มีวิกฤติทางการเมือง เลยสนใจงานทางการเมือง และคิดว่าเราน่าจะเข้ามาเป็นนักการเมืองเองดีกว่า "เราหงุดหงิดกับนักการเมือง หรือบ่นวิจารณ์คนอื่น หากเราคิดว่าเราน่าจะทำได้ดีก็ ก็น่าจะขอโอกาสจากประชาชนมาทำให้ดีอย่างที่เราอยากจะเห็นจากคนอื่นทำ" @ ผู้แทนของประชาชน เมื่อถามถึงความรู้สึกก่อนและหลังเข้ามาเป็นนักการเมือง มีภาพหรือมุมมองที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างไร ดร.กานต์ บอกว่า แตกต่าง เพราะหลังจากเข้ามาเป็นนักการเมืองทำให้เห็นคุณค่าในงานการเป็นผู้แทนราษฎร เวลาเราเอ่ยถึง นักการเมือง มันจะมีความรู้สึก หรือถูกมองเป็นภาพลบ แต่ถ้าเราบอกว่าอาชีพของเราคือ ผู้แทนประชาชน มันมีความหมาย มันคือการที่เราได้ดูแลพี่น้องประชาชน เป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชน ไปออกกฎหมาย ไปติดตาม ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล มันมีความหมายมาก ทำให้เราเห็นคุณค่ากับอาชีพนี้มากขึ้นกว่าเดิม ขณะเดียวกันเรารู้ว่าอาชีพนี้มันไม่ง่าย และไม่ได้เนรมิตทุกอย่างได้อย่างที่คนคาดหวัง อาชีพนี้มีทั้งคนที่ดีและไม่ดี เราเข้าใจหัวอกคนเป็นนักการเมือง ขณะที่คนนอกไม่เข้าใจ ได้แต่ต่อว่า พอสวมหมวกนักการเมืองก็จะถูกมองว่าขี้โกง นิสัยไม่ดี ซึ่งในความเป็นจริงอาจไม่ใช่อย่างนั้น อาจมีบางเรื่องที่ทำไม่ถูกใจประชาชน แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเหมารวมคนที่เป็นผู้แทนราษฎรทั้งหมด แต่เราก็ไม่ได้ท้อแท้ เพราะเราไม่ได้เป็นเช่นนั้น แต่ก็เข้าใจความรู้สึกของประชาชนได้ เพราะครั้งหนึ่งเราก็เคยรู้สึกแบบนั้นกับนักการเมือง "อย่างไรก็ตามระบอบประชาธิปไตยมันก็ต้องมีผู้แทนราษฎร ต้องมีนักการเมือง คุณอาจจะผิดหวังได้ วิจารณ์ได้ แต่อย่าเลิกที่จะมีส่วนร่วมหรือใส่ใจการเมือง เพราะการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน ดังนั้นยิ่งรังเกียจ ยิ่งผิดหวังกับนักการเมือง เราก็ต้องยิ่งเข้ามาติดตาม ตรวจสอบ และเลือกคนดีเข้าไปทำงานในสภา ไม่ใช่ผิดหวังแล้วเพิกเฉย" @ ความสุขระยะยาว ดร.กานต์ ได้เล่าถึงชีวิตในช่วงที่ว่างเว้นจากงานด้านการเมืองว่า ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ทำให้เราได้ฉุกคิดว่าในระยะยาวจะเป็นอย่างไร ถ้าเราไม่เล่นการเมืองแล้ว ซึ่งสิ่งหนึ่งที่พบคือเราชอบเขียนหนังสือ เขียนบทความ และคิดว่าในระยะยาวถึงช่วงที่มีอายุมากๆ ก็สนใจเรื่องการปลูกผัก ทำสวน แต่วันนี้ยังไม่เก่ง เราจึงเริ่มจากการทำอะไรง่ายๆ ก่อน เช่นปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ผักสวนครัว ปลูกต้นไผ่ โดยมีคนที่บ้านคอยช่วยดูแล ส่วนชีวิตครอบครัวตอนนี้ก็ใช้เวลาทั้งหมดดูแลพ่อแม่ ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ว่างจากงานสภาถือเป็นความโชคดีของชีวิต เพราะคุณพ่อป่วย ทำให้เรามีเวลาว่างในการดูแลท่าน ซึ่งกำลังใจถือเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับผู้ป่วย @ เล็งผลักดันนโยบาย “ความเสมอภาค” อย่างไรก็ตาม หากในอนาคตสังเวียนนักการเมืองกลับมาคึกคัก มีชีวิตชีวาอีกครั้ง สิ่งที่ดร.กานต์ อยากทำให้ในฐานะนักการเมือง นอกจากการติดตามชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และสะท้อนปัญหาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับรู้แล้วนั้น เจ้าตัวยังสนใจเรื่องนโยบาย การออกกฎหมายโดยเฉพาะเรื่องกฎหมาย ดร.กานต์ อยากให้ความสำคัญต่อเพศที่ 3 มากขึ้น โดยเธอให้เหตุผลว่าหลายคนอาจคิดว่าเพศที่ 3 อาจเป็นปัญหาของคนกลุ่มน้อย แต่ความจริงแล้วมันคือปัญหาของสังคมในเรื่องความไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งไม่ค่อยมีนักการเมืองคนไหนสนใจเรื่องนี้ แม้เขาจะเป็นประชากรส่วนน้อย แต่ก็สะท้อนถึงทัศนคติของคนในสังคม บรรยากาศ สถานภาพ การคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน การคำนึงถึงความเสมอภาคเท่าเทียมกันของคนทุกคน นอกจากนี้ยังสนใจเรื่องการปฏิรูปการศึกษา เพราะเด็กไทยยังเรียนหนัก ไม่ได้รับการฝึกให้คิด @ มองอนาคตประเทศไทย เมื่อถามถึงสิ่งที่ดร.กานต์ คาดหวัง หรืออยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคมไทย เธอตอบกลับตามสไตล์ของผู้หญิงเก่งและมีความมาดมั่น ว่า ไม่ได้เป้าหมายในเชิงเศรษฐกิจ แต่ตั้งเป้าหมายไว้ที่คน ขอให้คนมีคุณภาพ มีระเบียบวินัย มีความใฝ่รู้ นี่คือพื้นฐานของความเป็นคนเมตตา เห็นอกเห็นใจกัน ไม่ว่าเทคโนโลยี กระแสโลกเศรษฐกิจจะปรับไปอย่างไร ความเป็นมนุษย์มันทำให้เราปรับตัวเราเองได้ "แต่ถ้าเราขาดพื้นฐานความเป็นคนที่ดี ก็อยู่ยาก ถ้าคนไม่มีระเบียบวินัย ต่อให้เศรษฐกิจดี บ้านเมืองก็วุ่นวาย ถ้าคนไม่เคารพกติกา ไม่เห็นใจซึ่งกันและกัน คนรวยก็ยังเอาเปรียบคนจน"