"เสธ.หมึก" พลเอกเดชา เหมกระศรี นายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า ตามที่สมาคมกีฬาจักรยานฯ ได้จัดทำคู่มือมาตรการจัดการแข่งขันจักรยานในระดับประเทศ และระดับนานาชาติ นำเสนอไปยัง ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ ผ่านมา ซึ่ง ศบค. ผ่านการพิจารณาและเห็นชอบให้สมาคมฯ จัดการแข่งขันได้ตามกำหนดการระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ถึงพฤศจิกายน สมาคมฯ จึงเตรียมจัดการแข่งขันจักรยานประเภทลู่ ชิงแชมป์ประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทาน "ควีนส์สิริกิติ์" ประจำปี 2564 สนามที่ 1 ระหว่างวันที่ 12-13 กุมภาพันธ์ ที่สนามเวลโลโดรม หัวหมาก เป็นรายการปฐมฤกษ์ ในรูปแบบชีวิตวิถีใหม่ New Normal (ไม่มีคนดู) พลเอกเดชา กล่าวว่า สมาคมกีฬาจักรยานฯ ได้ยึดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามคำแนะนำของ ศบค. อย่างเคร่งครัด สำหรับนักกีฬา เจ้าหน้าที่ ที่เดินทางมาจากจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด สมาคมฯ กำหนดว่าจะต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธีการ PCR test ภายใน 72 ชั่วโมง ก่อนเดินทางมาแข่งขัน และแนบเอกสารการตรวจที่มีผลเป็นลบ มากับใบสมัครด้วย ขณะเดียวกันก็ต้องยึดมาตรการ 5 ข้อหลัก คือ สวมหน้ากากอนามัย, ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์, เว้นระยะห่าง, หลีกเลี่ยงการสัมผัส และจำกัดจำนวนคน โดยมีจุดคัดกรองก่อนเข้าสนามอย่างเข้มงวด พร้อมทั้งห้ามมีผู้ชมเข้าไปในสนามอย่างเด็ดขาด แต่จะให้ชมผ่านการถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กไลฟ์ Thaicycling Association แทน นอกจากนี้ นักกีฬาทุกคนจะต้องทำประกับอุบัติเหตุก่อนการแข่งขัน หากไม่มีประกันก็จะไม่อนุญาตให้ลงแข่ง อย่างไรก็ตาม สมาคมกีฬาจักรยานฯ ได้ประสานกับบริษัท รู้ใจ จำกัด มาตั้งบูธที่หน้าสนามเวลโลโดรม เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ยังไม่ได้ทำ หรือไม่สะดวกทำประกันมาจากข้างนอก พร้อมกันนี้นักปั่นจะต้องทำบัตรอนุญาตแข่งขัน หรือไลเซ่น (License) ทุกคน โดยสามารถเข้าไปลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์สมาคมฯ www.thaicycling.co.th ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป "เสธ.หมึก" กล่าวอีกว่า สมาคมกีฬาจักรยานฯ ได้กำหนดทำความสะอาดสนามเวลโลโดรม หัวหมาก ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทัพบก โดยมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) จัดกำลังพลมาทำการล้างพื้นสนามแข่งขัน เก้าอี้บนอัฒจันทร์ พื้นที่โดยรอบสนาม พร้อมทั้งพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อทั่วพื้นที่ทั้งหมด ในวันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ ดังนั้นสโมสรหรือทีมต่าง ๆ ที่วางโปรแกรมฝึกซ้อมในวันดังกล่าวขอให้ปรับแผนหรือเลื่อนโปรแกรมเป็นวันอื่นแทน ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ทุกคน สำหรับการแข่งขันจักรยานประเภทลู่ ชิงแชมป์ประเทศไทย สนามที่ 1 จะแบ่งเป็นรุ่นยุวชนชาย-หญิง, เยาวชนชาย-หญิง, รุ่นอาวุโสอายุ 35-44 ปีชาย, รุ่นอาวุโสอายุ 45 ปีขึ้นไปชาย, รุ่นประชาชนชาย-หญิง โดยมีโปรแกรมแข่งขันดังนี้ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ เวลา 07.00 น. ประชุมผู้จัดการทีม ที่ห้องเสรี ไตรรัตน์ จากนั้น เวลา 08.00-12.00 น. แข่งขันประเภทเปอร์ซูต รอบคัดเลือกทุกรุ่น, เวลา 13.00-17.00 น. แข่งขันประเภทสแครตช์, คีริน, ทีมสปรินต์, ทีมเปอร์ซูต รอบคัดเลือกทุกรุ่น วันที่ 13 กุมภาพันธ์ เวลา 08.00-12.00 น. แข่งขันประเภทไทม์ไทรอัล รอบชิงชนะเลิศทุกรุ่น, สแครตช์ 20 รอบ ประชาชนหญิง และสแครตช์ 4 กม. ยุวชนหญิง รอบชิงชนะเลิศ, เวลา 13.00-15.00 น. แข่งขันประเภทสแครตช์ 5 กม. ยุวชนชาย, สแครตช์ 15 รอบ เยาวชนหญิง, สแครตช์ 20 รอบ ประชาชนชาย รอบชิงชนะเลิศ, เวลา 15.00-16.00 น. แข่งขันประเภทสปรินต์ 200 เมตรไทม์ไทรอัล รอบคัดเลือกทุกรุ่น, เวลา 16.00-17.00 น. แข่งขันประเภทสปรินต์ รอบก่อนรองชนะเลิศ รุ่นยุวชนชาย, เยาวชนชาย, ประชาชนชาย และรอบรองชนะเลิศ รุ่นยุวชนหญิง, เยาวชนหญิง, ประชาชนหญิง วันที่ 14 กุมภาพันธ์ เวลา 08.00-09.00 น. แข่งขันประเภทคีริน รอบชิงชนะเลิศ รุ่นเยาวชนชาย-หญิง, ประชาชนชาย-หญิง, เวลา 09.00-11.00 น. แข่งขันประเภทเปอร์ซูต รอบชิงชนะเลิศทุกรุ่น, เวลา 11.00-12.00 แข่งขันประเภทสปรินต์ รอบชิงชนะเลิศทุกรุ่น, เวลา 13.00-14.00 น. แข่งขันประเภททีมสปรินต์ รอบชิงชนะเลิศทุกรุ่น, เวลา 14.00-15.00 น. แข่งขันประเภททีมเปอร์ซูต รอบชิงชนะเลิศ รุ่นเยาวชนชาย, เยาวชนชาย, ประชาชนชาย พลเอกเดชา กล่าวเสริมว่า ในแต่ละวันเมื่อนักกีฬาแข่งขันเสร็จสิ้นแล้ว หากไม่มีโปรแกรมการแข่งขันต่อก็จะให้เดินทางกลับบ้านหรือที่พักทันที ขณะเดียวกันจะไม่มีพิธีมอบรางวัลให้แก่นักกีฬา แต่จะให้นักกีฬาที่ได้รางวัลชนะเลิศแต่ละอันดับหยิบเหรียญรางวัลจากถาดที่เจ้าหน้าที่จัดวางไว้บนแท่นนำมาคล้องคอเอง รวมทั้งประกาศนียบัตรและช่อดอกไม้ด้วย สำหรับนักกีฬาที่ต้องการสมัครเข้าร่วมการแข่งขัน สามารถสมัครได้ที่เว็บไซต์ของสมาคมจักรยานฯ www.thaicycling.or.th หรือสอบถามได้ที่ โทร.0-2719-3340-2 ในวันและเวลาราชการ.