กรมชลประทาน เดินหน้าวางแผนพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น หวังแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอย่างยั่งยืน ตามนโยบายของรัฐบาล โดยดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คาดจะทำให้มีปริมาณน้ำเก็บกักเพิ่มมากขึ้นกว่า 150 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ชลประทานเพิ่มอีกกว่า 140,000 ไร่ เมื่อวันที่ 31 ม.ค. นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้ประเมินและวิเคราะห์สภาพปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในลุ่มน้ำชี ในเขตพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ที่มีสภาพคดเคี้ยวบางช่วงกว้างบางช่วงแคบและมีสภาพตื้นเขิน ทำให้การไหลของน้ำโดยเฉพาะในช่วงฤดูน้ำหลาก ซึ่งมีปริมาณน้ำมากเกินความจุของลำน้ำ ทำให้น้ำไหลล้นตลิ่งและตลิ่งยังถูกกัดเซาะเสียหาย เกิดน้ำไหลทะลักเข้าท่วมขังบริเวณที่ไม่มีแนวพนังกั้นน้ำและจุดบรรจบของลำน้ำสาขา ส่งผลให้มีน้ำท่วมขังในพื้นที่เป็นระยะเวลานาน ขณะเดียวกันพื้นที่ดังกล่าวก็ประสบกับปัญหาภัยแล้งเช่นกันในช่วงฤดูแล้ง มีน้ำไม่เพียงพอใช้ เนื่องจากแหล่งเก็บกักน้ำมีน้อย ส่วนที่มีอยู่ก็มีสภาพตื้นเขิน ไม่สามารถเก็บกักน้ำได้เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรมชลประทาน จึงได้วางแผนพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ประกอบไปด้วยโครงการที่มีแผนก่อสร้างในปี 2564 จำนวน 4 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการขุดลอกแก้มลิงแก่งน้ำต้อนพร้อมอาคารประกอบ อำเภอเมืองขอนแก่น 2.โครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำกุดหมากเห็บ อำเภอแวงใหญ่ 3.โครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าตำบลโคกสูง อำเภออุบลรัตน์ และ4.โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำลำน้ำเชิญ บ้านอาจสามารถ อำเภอชุมแพ ซึ่งทั้ง 4 โครงการนี้จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักน้ำได้รวมประมาณ 35.70 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ประมาณ 61,500 ไร่ มีพื้นที่รับประโยชน์ 3,500 ไร่ นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่มีแผนงานก่อสร้างในปี 2565-2568 อีก 8 โครงการ ซึ่งจะสามารถเพิ่มปริมาณเก็บกักน้ำได้ประมาณ 114 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มพื้นที่ชลประทานได้กว่า 80,000 ไร่ พื้นที่รับประโยชน์กว่า 16,000 ไร่ อนึ่ง ยังมีโครงการที่กรมชลประทานได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมแล้วเสร็จในปี 2563 จำนวน 3 โครงการ และอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมในปี 2564 อีก 1 โครงการ หากสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ทั้งหมด จะช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น รวมทั้งสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับราษฎรในพื้นที่ทั้งน้ำอุปโภคบริโภค และการเกษตรได้อย่างยั่งยืน ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะต่อไป