เมื่อวันที่ 30 ม.ค. นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมง ได้จัดทีมสำรวจแหล่งน้ำ อ่างเก็บน้ำ และเขื่อนต่างๆ ที่อยู่ในสภาวะเสี่ยงน้ำลดก่อนเข้าสู่ฤดูแล้ง ซึ่งอาจส่งผลต่อแหล่งที่อยู่อาศัยของพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำจืด ตามข้อสั่งการของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เน้นย้ำให้เร่งคุ้มครองแหล่งพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำจืด ซึ่งเป็นฐานทรัพยากรสัตว์น้ำจืดที่สำคัญในการผลิตสัตว์น้ำวัยอ่อนช่วงฤดูปลามีไข่ ปี 2564 โดยวางมาตรการบริหารจัดการที่เหมาะสม ลดการระดมทำการประมง หรือใช้เครื่องมือทำการประมงที่ผิดกฎหมาย เพื่อไม่ให้พ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำจืดในแหล่งน้ำธรรมชาติ ถูกใช้ประโยชน์จนเกินศักยภาพ และอยู่รอดจนสามารถวางไข่ขยายพันธุ์ได้ในฤดูน้ำหลากต่อไป ทั้งนี้ จากข้อสั่งการดังกล่าว กรมประมง ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ได้รับมอบหมาย ล่าสุดจึงได้สั่งการให้สำนักงานประมงจังหวัด ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดทั่วประเทศ เร่งจัดทีมสำรวจและตรวจสอบแหล่งน้ำสำคัญในพื้นที่ความรับผิดชอบ ว่ามีแหล่งน้ำใดที่สุ่มเสี่ยงจะเกิดปัญหาความแห้งแล้ง หรือมีปริมาณน้ำอยู่ในภาวะวิกฤต แห้งขอดจนกลายเป็นแอ่งน้ำขนาดเล็กที่อาจส่งผลต่อการทำการประมงผิดกฎหมาย หรือมีการระดมทำการประมงที่หนาแน่นเกินไป จนเข้าข่ายทำลายหรือตัดตอนวงจรการแพร่ขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำจนเกินความจำเป็น และส่งผลกระทบให้แหล่งอาศัยพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำจืดถูกทำลายอย่างรุนแรง โดยได้กำชับให้ทุกพื้นที่เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจกับพี่น้องชาวประมง และประชาชนทั่วไป เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์และคุ้มครองแหล่งพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำจืดในช่วงภาวะวิกฤตน้ำลด พร้อมทั้งให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากร คุ้มครองแหล่งพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำ หรือใช้วิธีการเคลื่อนย้ายพ่อแม่พันธุ์สัตว์ไปไว้ในแหล่งน้ำที่มีความปลอดภัย พร้อมทั้งวางมาตรการทางกฎหมายคุ้มครองสัตว์น้ำเป็นการฉุกเฉิน โดยใช้กลไกของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด ตามมาตรา 28 วรรคหนึ่ง (3) และวรรคสอง ประกอบมาตรา 71 (1) แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 2560 ซึ่งกำหนดไว้ว่า ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน หรือมีความจำเป็นเร่งด่วนในการออกประกาศตามมาตรา 56 และมาตรา 71 ให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดมีอำนาจออกประกาศบังคับใช้เป็นการชั่วคราว มีกำหนดระยะเวลาไม่เกิน 60 วัน และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 60 วัน นับจากวันที่ประกาศมีผลบังคับใช้ "ถึงแม้ว่ากฎหมายประมงฉบับนี้ได้ออกแบบให้สามารถออกกฎหมายลำดับรองเป็นการเฉพาะเพื่อให้บังคับใช้ได้อย่างเหมาะสมแต่ละพื้นที่แล้วก็ตาม มาตรการคุ้มครองพันธุ์สัตว์น้ำจืดจะเห็นผลสัมฤทธิ์และก่อให้เกิดความยั่งยืนของทรัพยากรอย่างแท้จริงได้นั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยความร่วมมือของพี่น้องชาวประมงและประชาชน องค์กรที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อคุ้มครองพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำจืดให้มีโอกาสได้แพร่พันธุ์วางไข่ เลี้ยงตัวในวัยอ่อน ในฤดูน้ำหลาก ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญหล่อเลี้ยงประชาชนในพื้นที่แหล่งน้ำ และสร้างเศรษฐกิจระดับฐานรากต่อไป หากพี่น้องประชาชนเห็นว่าแหล่งน้ำใดอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงที่เกิดภาวะน้ำลดลงจนอาจส่งผลกระทบต่อการสูญเสียแหล่งพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำจืด สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่สำนักงานประมงอำเภอ จังหวัด หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดใกล้บ้านได้ กรมประมงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือเหล่านี้จะเป็นประโยชน์สร้างความยั่งยืนในการรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำของประเทศสืบไป"อธิบดีกรมประมง กล่าว