สาเหตุการระบาดของโรค COVID-19 นั้น มีเพียงแหล่งเดียวคือ “คน” แต่กลับมีผู้บริโภคบางส่วนกังวลเกี่ยวกับ “อาหาร” ส่งผลให้หลากหลายองค์กรทั้งในและต่างประเทศต้องออกมาสร้างความมั่นใจและคลายความวิตกให้กับผู้บริโภค เริ่มกันที่ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) โดย นายไมค์ ไรอัน หัวหน้าฝ่ายสถานการณ์ฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า ยังไม่พบหลักฐานว่าอาหารเป็นช่องทางของการแพร่กระจายเชื้อ ดังนั้น ผู้บริโภคสามารถรับประทานอาหารได้อย่างสบายใจ โดยไม่จำเป็นต้องกังวลว่า สิ่งที่รับประทานหรือบรรจุภัณฑ์ที่นำมาใช้จะเป็นแหล่งแพร่เชื้อของไวรัสโควิด-19 สอดคล้องกับ องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยที่ยืนยันว่า เชื้อโควิด-19 ไม่สามารถติดต่อจากการรับประทานอาหาร และยังไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากการบริโภคอาหาร เช่นเดียวกับสมาคมโปรตีนจากสัตว์ของบราซิลที่ระบุว่า ไม่มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าเนื้อสัตว์ก่อให้เกิดการติดเชื้อได้ ขณะที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations : FAO) ตอกย้ำเกี่ยวกับประเด็นความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหาร สำหรับประชาชนทั่วไป ว่าโควิด-19 ไม่สามารถติดต่อผ่านทางอาหารที่ปรุงสุกใหม่และอาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูปที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์อย่างดี รวมถึง หน่วยงาน Food Authority of Ireland, European Food Safety Authority (EFSA) และ United Sate Food and Drug Administration (USFDA) ที่ออกรายงานว่า “ยังไม่พบหลักฐานยืนยันการพบเชื้อไวรัสโคโรน่าในอาหารหรือบรรจุภัณฑ์อาหาร” หรือแม้แต่ในพื้นผิวดิน น้ำบาดาล น้ำประปา หรือน้ำบริโภค เนื่องจากไวรัสชนิดนี้มีเยื่อหุ้มที่มีความทนทานต่อสภาวะแวดล้อมได้ต่ำและถูกทำลายได้ง่ายจากสารเคมีที่ใช้ในการฆ่าเชื้อ เช่น คลอรีน หรือความร้อน ดังนั้น ความเสี่ยงที่จะพบเชื้อไวรัสในอาหารจึงค่อนข้างต่ำ สำหรับในประเทศไทย ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้ำชัดในเรื่องนี้ว่าสัตว์เศรษฐกิจ เช่น หมู ไก่และเป็ด ไม่สามารถติดโรคโควิด-19 ได้อย่างแน่นอน ขณะที่อาหารทะเลและผลิตภัณฑ์ของอาหารทะเล ในปัจจุบันก็ยังไม่มีหลักฐานโดยตรงว่าเป็นแหล่งระบาดของโรค ประชาชนจึงสบายใจได้ในการบริโภคเนื้อสัตว์เหล่านี้ โดยเน้นการปรุงอาหารให้สุก สะอาด และไม่แนะนำให้ทานอาหารดิบๆ สุกๆ เด็ดขาดในช่วงนี้ การทานอาหารที่สุก เพราะความร้อนสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ทุกชนิด รวมทั้งโควิด-19 ที่ถูกทำลายด้วยความร้อน 56 องศาเซลเซียส นานครึ่งชั่วโมง และถ้าความร้อนสูงขึ้นระยะเวลาก็จะสั้นลง โดยทั่วไปแล้วถ้าความร้อนสูงกว่า 85 องศาเซลเซียส ก็จะมั่นใจในการทำลายไวรัสได้ และถ้าต้มให้เดือดที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส ไวรัสจะถูกทำลายทันที นอกจากนี้ การจับต้องของดิบไม่ว่าจะเป็นอาหารทะเล หรือเนื้อสัตว์ ทั้งที่ซื้อมาจากตลาดและจากโรงงาน ต้องหมั่นล้างมือและดูแลเรื่องสุขอนามัยอยู่เสมอ ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ที่ดูแลเรื่องสุขภาพคนโดยตรง มุ่งเน้นหลักการสำคัญในการจัดการความปลอดภัยอาหารในสภาวการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายใต้หลัก “การจัดการให้คนปลอดภัย อาหารจึงจะปลอดภัย” โดยมีคำแนะนำแก่สถานประกอบการอาหาร ให้เพิ่มมาตรการป้องกันโรคติดต่อโควิด-19 และปฏิบัติตามมาตรฐานในการผลิตอาหาร (GMP) อย่างเคร่งครัด ด้วยมาตรการสำคัญ 3 ข้อ คือ 1.การป้องกันการแพร่ระบาดจากคนสู่คน 2.การควบคุมกระบวนการผลิตอาหาร เพื่อป้องกันการปนเปื้อนสู่อาหาร และ3.การสร้างความตระหนักให้กับพนักงาน ซึ่งผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารต่างร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อสร้างอาหารปลอดภัยสู่ผู้บริโภค ด้วยความเคร่งครัดในมาตรฐานการผลิตระดับสากลที่ได้มีการรับรองอย่างถูกต้อง เช่น มาตรฐาน GMP ระบบการผลิตอาหารที่ปลอดภัย (HACCP) รวมถึงการใช้เทคโนโลยีทันสมัยรองรับการผลิตอาหาร อาทิ การใช้หุ่นยนต์แทนการสัมผัสจากมือเพื่อป้องกันการปนเปื้อนในอาหาร ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าอาหารที่ผลิตจากโรงงานแปรรูปที่มีมาตรฐาน มีมาตรการป้องกัน และการตรวจสอบอย่างเข้มงวดนั้น “ปลอดจากโควิดและปลอดภัยในการบริโภค” ถึงตรงนี้ผู้บริโภคคงจะคลายกังวลในเรื่องความปลอดภัยในอาหาร ขอเพียงเลือกบริโภคอาหารที่สดใหม่ มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและถูกหลักอนามัย เน้นความสะอาดและปรุงสุกให้ความร้อนฆ่าเชื้อโรค เพื่อสุขภาพที่ดีซึ่งนับเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในวิกฤตโควิดเช่นนี้ โดย : รัฐพล ศรีเจริญ นักวิชาการอิสระ