26 ม.ค. 64 เพจ "ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน" โพสต์ภาพและข้อความระบุว่า .... ศาลจังหวัดระยองนัดอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในคดีของนายพลวัฒน์ วโรดมพุฒิกุล อายุ 28 ปี อดีตพนักงานช่างเทคนิคประจำโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดระยอง ซึ่งถูกกล่าวหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโปรยใบปลิวที่มีข้อความ “ตื่น!!! และลุกขึ้นสู้ได้แล้ว… ผู้รักประชาธิปไตยทุกคน…เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” เพื่อแสดงออกต่อต้านการรัฐประหาร ในจังหวัดระยองเมื่อปี 2558 วันนี้ ศาลจังหวัดระยองได้อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ซึ่งจัดทำตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 63 โดยศาลอุทธรณ์พิเคราะห์ว่าข้อเท็จจริงในคดีฟังยุติได้ว่าในวันเวลา และสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยได้นำใบปลิวซึ่งมีข้อความว่า “ตื่น!!! และลุกขึ้นสู้ได้แล้ว… ผู้รักประชาธิปไตยทุกคน...เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” และมีรูปสัญลักษณ์ชูสามนิ้วที่มีข้อความว่า “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ต่อต้านรัฐประหาร” หลายแผ่น ไปทิ้งโปรยในจุดต่างๆ ของตัวเมืองระยอง ศาลเห็นว่าแผ่นปลิวที่นำไปโปรยทิ้งนั้นมีข้อความลักษณะเป็นการชักชวนประชาชนที่พบเห็นและมีความคิดเห็นในทางการเมืองเช่นเดียวกับจำเลย ให้ลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เข้ามาบริหารประเทศจากการยึดอำนาจ และควบคุมอำนาจของการปกครองประเทศของ คสช. ซึ่งการกระทำของจำเลยดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความปั่นป่วน ความวุ่นวาย ความรุนแรง หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรได้ และประชาชนทั่วไปจะได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำดังกล่าว จึงมิใช่เป็นการแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต แม้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 4 ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุบัญญัติว่าภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้ แต่ศาลเห็นว่า “สิทธิเสรีภาพ” ที่ได้รับการคุ้มครองนั้น จะต้องเป็นสิทธิเสรีภาพที่มีการกระทำไม่ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายอาญา ทั้งจะต้องไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวายหรือความไม่สงบขึ้นภายในประเทศ มิฉะนั้นแล้วหากทุกคนใช้สิทธิเสรีภาพโดยไม่คำนึงบทบัญญัติของกฎหมาย ก็อาจก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย และสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน ทั้งยังก่อให้เกิดความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจและความสงบสุขโดยทั่วไปของประชาชน ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 2 เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ศาลอุทธรณ์ยังพิเคราะห์ต่อไปว่า พ.ต.อ.สุรพณ มงคลยุทธ พยานโจทก์ซึ่งได้สอบถามจำเลยว่า มีความคิดอย่างไรในการกระทำของตน จำเลยแจ้งว่ามีกลุ่มที่มีแนวคิดเดียวกันที่อยู่บางแสนโดนควบคุมตัวไป “ปรับทัศนคติ” จำเลยจึงควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ จึงนำเอกสารที่จัดทำไว้ไปโปรยทิ้ง แสดงว่าจำเลยได้กระทำการดังกล่าวด้วยความหุนหันพลันแล่น ปราศจากความยับยั้งชั่งใจ และยังได้ความจากบันทึกคำให้การของเพื่อนที่ทำงานอยู่บริษัทเดียวกับจำเลย ว่าเมื่อวันที่ 26 มี.ค. 58 จำเลยบอกเพื่อน ว่าตนเครียดจากการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามตัวอยู่ จากการโปรยใบปลิวดังกล่าว เพื่อนจำเลยจึงแนะนำให้จำเลยเข้ามอบตัว จำเลยรับว่าจะเข้ามอบตัวต่อเจ้าพนักงานตำรวจ แต่ต่อมาวันที่ 27 มี.ค. 58 เวลาประมาณ 11.00 น. มีเจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าหน้าที่ทหารเข้าควบคุมตัวจำเลย จากคำให้การดังกล่าวเห็นได้ว่าจำเลยเริ่มรู้สึกสำนึกในการกระทำผิดของตนแล้ว จึงเกิดความเครียดและคิดจะเข้ามอบตัว ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการที่ลงโทษจำคุกจำเลยมีระยะเวลาสั้นเป็นเวลา 4 เดือน ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จะเป็นเหตุให้จำเลยต้องมีประวัติเสื่อมเสีย เมื่อพ้นโทษแล้วก็ยากจะกลับมาประกอบสัมมาอาชีพโดยสุจริตต่อไปได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรรอการลงโทษจำคุก ย่อมจะเป็นผลดีแก่จำเลยและสังคมมากกว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษาแก้เป็นโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ลงนามโดยนายศุภชาติ ถิ่นพังงา, นางอัจฉรา วริวงศ์ และนางวัชรี พูลเกษม หลังอ่านคำพิพากษา จำเลยและทนายจำเลยเห็นว่าจะยื่นฎีกาคำพิพากษาในคดีนี้ต่อไป
ขอบคุณข้อมูลและภาพ เพจ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน