กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ครบรอบปีที่ 8 แห่งการได้รับสถาปนายกระดับเป็นกรม เดินหน้ามุ่งมั่นทำฝนอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน และพัฒนาเพื่อเป็นองค์กรชั้นนำในระดับโลกด้านการดัดแปรสภาพอากาศตามศาสตร์ฝนหลวงพระราชทานภายในปี 2580 เมื่อวันที่ 25 ม.ค. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร นำคณะผู้บริหาร ข้าราชการ พนักงานราชการ และเจ้าหน้าที่ สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกรมฝนหลวงและการบินเกษตร และพิธีสงฆ์ เนื่องในวันคล้ายวันสถานปนากรมฝนหลวงและการบินเกษตร ครบรอบปีที่ 8 และจัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการในรูปแบบเสมือนจริง (Virtual MOU Signing Ceremony) กับ ๙ หน่วยงาน โดยแบ่งเป็น 3 ด้าน คือ ด้านการวิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับ 3 หน่วยงาน คือ สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และสร้างการรับรู้ กับ ๔ หน่วยงาน คือ กรมชลประทาน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมอุตุนิยมวิทยา และกรมประชาสัมพันธ์ และด้านบริหารจัดการด้านการบิน กับ 2 หน่วยงาน คือ สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสถาบันการบินพลเรือน ทั้งนี้ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ภัยพิบัติ บริหารจัดการน้ำ และเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวงอย่างบูรณาการ นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นหน่วยงานสนองงานโครงการพระราชดำริฝนหลวงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยตรง ซึ่งตลอดระยะเวลา 8 ปี รวมถึงเมื่อครั้งเป็นสำนักฝนหลวงและการบินเกษตรที่ผ่านมา กรมฯ ได้ดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในการบรรเทาปัญหาภัยแล้งมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ออกหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม–31 ตุลาคม ของทุกปีแบบไม่มีวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ และในปี 2563 ที่ผ่านมา ได้ปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์-31 ตุลาคม 2563 เนื่องจากปัญหาภัยแล้งที่มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งได้รับการสนับสนุนและการบูรณาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของกรมฯ ด้วยดี อาทิ ด้านอากาศยานและเจ้าหน้าที่จากกองทัพบกและกองทัพอากาศ ได้รับการสนับสนุนน้ำแข็งแห้งจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ ในด้านความก้าวหน้าการดำเนินงานต่างๆ ของกรมฝนหลวงฯ ด้านอัตรากำลัง ได้รับการพิจารณาอนุมัติเพิ่มขึ้นจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่งจะทำให้บุคลากรเกิดความสมดุลในการดำเนินชีวิตกับการทำงาน เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ดีขึ้น ด้านการพัฒนางานวิจัยเพื่อเสริมศักยภาพการปฏิบัติการฝนหลวง ดำเนินการเรื่องจรวดฝนหลวงเพื่อใช้ในการยับยั้งลูกเห็บ การนำอากาศยานไร้คนขับ (unmanned aerial vehicle : UAV) มาประยุกต์ใช้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงเมฆอุ่น การศึกษาวิจัยสารฝนหลวงทดแทนซิลเวอร์ไอโอไดด์ด้วยนาโนเทคโนโลยี และการวิจัยสารฝนหลวงทางเลือกที่ใช้ในช่วงสภาพอากาศมีความชื้นสัมพัทธ์น้อยกว่า 60% รวมทั้งการประดิษฐ์เครื่องโปรยสารฝนหลวงกึ่งอัตโนมัติ เพื่อลดความเสี่ยงในการปฏิบัติงาน โดยงานวิจัยต่างๆ ดังกล่าว ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะส่งผลดีต่อกรมฝนหลวงฯ ที่สามารถทำงานได้รวดเร็วขึ้น ทั้งนี้ กรมฝนหลวงฯ มีแผนจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการดัดแปรสภาพอากาศตามศาสตร์ฝนหลวงพระราชทาน ที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี โดยจะเริ่มดำเนินการในปี 2565 รวมทั้งจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ฝนหลวงรูปแบบอินเตอร์แอคทีฟ ซึ่งคาดว่าในอนาคตอาจจะเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของ จ.เพชรบุรี และเป็นแหล่งท่องเที่ยวศึกษาเรียนรู้โครงการพระราชดำริฝนหลวง และพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อีกด้วย สำหรับด้านความร่วมมือกับต่างประเทศ กรมฝนหลวงฯ มีแผนทำบันทึกข้อตกลงทางวิชาการด้านการดัดแปรสภาพอากาศเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เทคโนโลยี และพัฒนาบุคลากร รวมทั้งร่วมกันวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดัดแปรสภาพอากาศกับประเทศจีนและอินโดนีเซีย ส่วนประเทศมองโกเลีย ศรีลังกา และฟิลิปปินส์ อยู่ระหว่างการประสานงาน ขณะเดียวกันประเทศไทย จะเป็นศูนย์กลางในการสร้างเครือข่ายงานวิชาการด้านการดัดแปรสภาพอากาศในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขับเคลื่อนขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization : WMO) โดยประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนต่างเห็นตรงกันว่าประเทศไทยเหมาะสม เพราะมีศักยภาพสูงสุด ถือได้ว่า เรากำลังมีความเติบโตก้าวไปสู่ระดับอาเซียน และในอนาคตจะก้าวสู่ชั้นนำในระดับโลก "อย่างไรก็ตาม สำหรับในการก้าวเข้าสู่ปีที่ 9 และการดำเนินงานในปี 2564 นี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะปฏิบัติภารกิจอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยเตรียมพร้อมอากาศยาน นักบิน นักวิทยาศาสตร์ เจ้าหน้าที่ และเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ และจะเริ่มเปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2564 อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ที่จะถึงนี้ เพื่อเร่งดำเนินการช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบปัญหาทั่วทุกภูมิภาค เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด โครงการพระราชดำริฝนหลวง ในการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนต่อไป"นายสุรสีห์ กล่าว