วันนี้ทั้งโลกยังต้องต่อสู้กับโควิด-19 หลายบริษัทในหลายประเทศต่างเดินหน้าพัฒนาวัคซีน เพื่อนำมาช่วยประชากรของตนเองและชาวโลก ประเทศไทยเองในวิกฤตโควิดระลอก 2 ทุกคนยังคงพร้อมใจกันตั้งการ์ด ป้องกันตัวเองจากโรคร้ายแรงนี้ ขณะที่ผู้เลี้ยงสุกรทั่วโลกก็ยังคงตั้งการ์ด ป้องกันโรคสำคัญอย่าง African Swine Fever หรือ ASF ที่เกิดเฉพาะในสุกร แต่ไม่มีการติดต่อสู่คน ซึ่งถึงเวลานี้โรคได้เข้าตีจุดยุทธศาสตร์ของอุตสาหกรรมสุกรถึง 34 ประเทศทั่วโลก รวมถึงหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย ทั้งจีน กัมพูชา เมียนมา และเวียดนาม ส่งผลให้ประเทศเหล่านี้มีปริมาณผลผลิตสุกรลดลง ทำให้หลายประเทศราคาเนื้อสุกรแพงขึ้น 2-3 เท่า อย่างเช่นในจีนที่ราคาสุกรมีชีวิตปรับขึ้นไปถึง 175 บาทต่อกิโลกรัม เวียดนาม 104 บาทต่อกิโลกรัม กัมพูชา 102 บาทต่อกิโลกรัม และเมียนมา 86 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ประเทศไทยยังตรึงราคาไว้ที่ 80 บาทต่อกิโลกรัม ถือว่าราคาถูกที่สุดในภูมิภาคนี้ ที่สำคัญไทยยังคงครองสถานะ “ประเทศชนะการคุกคามจาก ASF ได้” เป็นผู้ส่งออกสุกรมีชีวิต ลูกสุกรขุน สุกรพันธุ์ ที่ประเทศเพื่อนบ้านเชื่อถือ และส่งผลให้ประเทศเพื่อนบ้าน ยังมีสุกรใช้บริโภค ลดความขาดแคลนลง โดยตลอดปี 2563 ที่ผ่านไป ไทยได้ส่งออกสุกรไปยัง 4 ประเทศเพื่อนบ้านรวมกันเป็นจำนวนถึง 2.4 ล้านตัว นับเป็นสถิติจำนวนสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ของประเทศ ช่วยนำเงินตราเข้าประเทศเกือบ 2 หมื่นล้านบาท ในยามที่เศรษฐกิจชาติกำลังถดถอยอันเป็นผลกระทบต่อๆกันมาของเหตุการณ์วิกฤติเศรษฐกิจและผลกระทบจากโรคระบาดโควิดทั่วโลก และยังให้จำนวนสุกรในบ้านเราไม่ผลิตล้นเกินความต้องการ เกิดสมดุลต่อราคาภายใน ประชาชนได้บริโภคอย่างบริบูรณ์ ทั้งหมดนี้เกิดจากความร่วมมือของทีมไทยแลนด์ที่ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ สมาคมผู้เลี้ยงสุกร สมาคมสัตวแพทย์-สัตวบาล สถาบันการศึกษา คณาจารย์ นักวิชาการอิสระ ภาคเอกชนและเกษตรกรทั่วประเทศ ที่จับมือกันอย่างเข้มแข็งมาตลอด 2 ปีเต็ม จนสามารถป้องกันโรคให้กับระบบฟาร์มการผลิตสุกรของไทย ผลความร่วมมือเป็นผลงานของประเทศเช่นนี้ ทำให้นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกปากชื่นชมการทำงานและขอบคุณทุกความร่วมมือของทุกฝ่าย ที่ทำให้ไทยสามารถป้องกันความเสียหายแก่อุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร จนไทยกลายเป็นประเทศเดียวที่ส่งออกสุกรปลอดโรคไปช่วยประเทศเพื่อนบ้านได้จนถึงปัจจุบัน อย่างไรเสียไทยจะชะล่าใจไม่ได้ แม้โรคนี้ยังตีป้อมปราการที่แข็งแกร่งของเราไม่ได้ แต่ก็ใช่ว่าจะหยุดปกป้องอุตสาหกรรมสุกรได้ ในทางกลับกัน ทุกภาคส่วนยิ่งต้อง ยกการ์ดสูง เต้นฟุตเวิร์คให้คล่องแคล่ว เตรียมปล่อยหมัดเด็ดด้วยการป้องกันแบบเต็มอัตราศึกอยู่ตลอดเวลา ด้วยระบบป้องกันทางชีวภาพ (Biosecurity) ที่สมบูรณ์แบบอยู่เสมอ ทุกฟาร์มยังต้องยึดมั่นในกฎเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติสำหรับฟาร์ม ทั้ง GMP สำหรับฟาร์มเลี้ยงขนาดใหญ่ และ GFM สำหรับฟาร์มขนาดเล็ก เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคต่างๆไม่เพียง ASF ไม่ว่าโรคนั้นจะมาจากภายนอกฟาร์มเข้าสู่ภายในฟาร์ม หรือป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคระหว่างหน่วยงานการผลิตกันเองภายในฟาร์มก็ตาม ทุกคนยังคงต้องใส่ใจกับการเลี้ยงการดูแลสุกรประจำวันให้ดี ด้วยการป้องกันโรคที่เข้มงวด ต้องมียาฆ่าเชื้อใช้ในการป้องกันโรค ผงซักฟอกใช้ในการทำความสะอาดทั่วไปได้ทุกอย่างดังเดิม มีรองเhp’vp6ท้าบูทให้เปลี่ยนก่อนเดินเข้าติดต่อบ้านผู้เลี้ยงทุกกรณี ต้องมีอ่างจุ่มยาฆ่าเชื้อหน้าประตูทางเข้าฟาร์ม ที่หน้าเล้าควรทำก๊อกน้ำสายยางกับลานปูนเพื่อใช้ล้างทำความสะอาด อุปกรณ์ รางอาหารลูกสุกร ที่สำคัญต้องมีอ่างยาฆ่าเชื้อจุ่มบูทก่อนเข้าเล้าเสมอ เน้นเล้าเลี้ยงให้ทำประตูเข้าออกประตูเดียว มีผนังปูนโดยรอบไม่ให้สัตว์เลี้ยงอื่นเข้าไปในเล้าได้ ที่สำคัญต้องไม่อนุญาตบุคคลภายนอกเข้าเล้าอย่างเด็ดขาด รวมทั้งควบคุมบริเวณสุนัข-แมว เล้าที่ว่างแล้วให้ฆ่าเชื้อ พักเล้า ซ่อมแซมให้มีสภาพพร้อมใช้ก่อนเลี้ยงสุกรชุดใหม่ ดูแลความสะอาดทั้งน้ำกิน-น้ำใช้ มีโอ่งใหญ่สำรองหากไฟฟ้าดับ หรือปั้มน้ำเสีย ซ่อมแซมตาข่ายกันนก ดายหญ้า กำจัดพุ่มไม้รอบโรงเรือน กำจัดที่อยู่นก-หนู-แมลงวันให้ดี ข้อแนะนำสำคัญโดยเฉพาะผู้เลี้ยงรายย่อย จะต้องป้องกันโรคไม่ให้แปดเปื้อนเข้าเล้าในระหว่างการซื้อขายสุกรอย่างเด็ดขาด โดยต้องไม่อนุญาตให้คนนอกเข้าเล้าสุกร สำคัญมากที่สุดในช่วงก่อนลงมือจับสุกร ต้องทำการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อรถจับสุกร พื้นรถ และกรงทุกครั้ง เพราะถือว่าการซื้อขายสุกรเป็นเเรื่องล่อแหลมที่สุด ที่มักเกิดโรคจากภายนอกติดเข้าฟาร์ม ดังนั้นควรเน้นขายสุกรแบบขายเหมาหมด ไม่ทยอยขาย ไม่ทิ้งสุกรเหลือ จะช่วยตัดวงจรโรคระบาดได้ ทั้งหมดนี้คือพื้นฐานการดูแลฟาร์มตามมาตรฐานฟาร์มของกรมปศุสัตว์ ที่ยังคงเป็นป้อมปราการสำคัญในการป้องกันทุกๆโรค และยังคงเป็นวิธีการที่ใช้ได้ดีเสมอ ขอเพียงผู้เลี้ยงใส่ใจทุกรายละเอียดอย่าให้ตกหล่น วันนี้ทุกคนต้องช่วยกันป้องโควิด-19 ให้เข้มงวด ชาวสุกรก็ต้องไม่ลืมป้องกัน ASF และโรคสัตว์อื่นๆ ให้เข้มแข็งเช่นเดียวกัน เพื่อให้หมูไทยยังคงปลอดโรค ปลอดสาร และปลอดภัย เพื่อผู้บริโภคทุกคน โดย : น.สพ.คัมภีร์ กอธีระกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคสุกรในอาเซียนและจีน