สทนช. มั่นใจ SEA ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาลุ่มน้ำมูลอย่างยั่งยืน พร้อมเตรียมดึงกลไกประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ลุ่มมูลน้ำแก้น้ำท่วม-แล้งซ้ำซาครอบคลุมพื้นที่ 10 จว.ภาคอีสาน ขีดเส้นสรุปผล SEA แล้วเสร็จภายใน ก.พ.นี้ คาดช่วยลดพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำกว่า 12.4 ล้านไร่ เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการแถลงข่าว “SEA ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาลุ่มน้ำมูลอย่างยั่งยืน”ว่า ที่ผ่านมาลุ่มน้ำมูล ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่ครอบคลุม 10 จังหวัด รวม 118 อำเภอ 19 กิ่งอำเภอในภาคอีสานตอนล่าง และบางส่วนของภาคอีสานตอนกลางรวมครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 44 ล้านไร่ ประสบวิกฤติปัญหาแล้ง-ท่วมซ้ำซากมาอย่างยาวนานและพบว่ามีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำกว่า 12.4 ล้านไร่ นอกจากนี้ยังมีสภาพดินตื้น ดินเค็ม น้ำเค็ม-น้ำกร่อย ป่าไม้เสื่อมโทรม พื้นที่ป่าต้นน้ำลดลง เป็นต้น ปัจจุบันมีพื้นที่ป่าไม้เหลือเพียง 5.5 ล้านไร่ หรือร้อยละ 12 ของพื้นที่ทั้งลุ่มน้ำ พื้นที่การเกษตรประมาณ 33 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 74 แต่พื้นที่เกษตรได้รับการพัฒนาเป็นพื้นที่ชลประทานเพียง 2 ล้านไร่เท่านั้นหรือคิดเป็นร้อยละ 6 ที่เหลืออีกกว่า 31 ล้านไร่หรือร้อยละ 94 เป็นพื้นที่ที่ต้องพึ่งพาน้ำฝน ขณะที่มีปริมาณฝนรายปี เฉลี่ย 85,089 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำท่าในลำน้ำเฉลี่ยปีละ 13,410 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนความต้องการน้ำทุกภาคส่วนมีถึง 10,155 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ความสามารถในการเก็บกักน้ำมีเพียง 5,350 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 40 % ของความต้องการใช้น้ำทั้งหมด จึงส่งผลให้ลุ่มน้ำมูลประสบปัญหาเรื่องน้ำมาโดยตลอด ทั้งปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร ปัญหาน้ำท่วมที่เคยท่วมสูงสุด 3.7 ล้านไร่ (ปี 2553) รวมถึงปัญหาคุณภาพน้ำที่เกิดจากการปล่อยน้ำทิ้งของชุมชน การเลี้ยงปลาในกระชัง ดังนั้น เพื่อเป็นกรอบแนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาข้างต้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องประเมินศักยภาพและข้อจำกัดของพื้นที่ลุ่มน้ำมูล โดยใช้กลไกแนวใหม่ที่เรียกว่า การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA (Strategic Environmental Assessment) ซึ่ง สทนช. นำมาใช้ในการศึกษาเพื่อประเมินศักยภาพและข้อจํากัดของสิ่งแวดล้อม ทิศทางในการพัฒนาลุ่มน้ำ รวมถึงเปรียบเทียบทางเลือกในการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำ เพื่อให้การตัดสินใจเป็นไปอย่างรอบคอบ และเกิดประโยชน์สูงสุดซึ่งสอดคล้องกับประเด็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาการจัดการน้ำเชิงลุ่มน้ำทั้งระบบในการเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำของประเทศ สำหรับขอบเขตพื้นที่ศึกษาครั้งนี้รวมทั้งสิ้น 1,282 ตำบล 151 อำเภอ ใน 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ ขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี จากผลการศึกษาเบื้องต้นได้นำเสนอทางเลือก อาทิ การพัฒนาพื้นที่เกษตรเป็นแหล่งเก็บกักน้ำชั่วคราว การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ การเชื่อมโยงแหล่งน้ำขนาดเล็กเข้าด้วยกัน การเก็บกักน้ำส่วนเกินในฤดูฝนเพื่อใช้ในฤดูแล้ง แนวทางพัฒนาหาน้ำต้นทุนจากแหล่งที่มีน้ำต้นทุนขนาดใหญ่ การผันน้ำจากพื้นที่ข้างเคียง การสนับสนุนการวิจัยการลดการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ การจัดทำโครงสร้างใต้ดินเพื่อจัดเก็บน้ำส่วนเกิน (บ่อกักเก็บน้ำฝนใต้ดิน) และระบบเครือข่ายเชื่อมโยงสถานีตรวจสอบคุณภาพน้ำอัตโนมัติเพื่อติดตามและตรวจสอบคุณภาพน้ำ (Real time) เป็นต้น โดยผลการศึกษาใกล้จะแล้วเสร็จตามแผนภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 นี้ เพื่อนำไปสู่การประเมินทางเลือกที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ และสรุปผลการศึกษา SEA ให้กับหน่วยงานและประชาชนในพื้นที่นำไปสู่การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำมูลอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นยุทธศาสตร์ ในการพัฒนาการจัดการน้ำเชิงลุ่มน้ำทั้งระบบเพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำของประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561–2580 ) และแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) “ในกระบวนการ SEA สทนช.เน้นย้ำให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วม ตั้งแต่การวิเคราะห์ปัญหา สาเหตุ แนวทางการแก้ไข และทางเลือกของแผนงาน โดยมีการประชุมแบบเวทีย่อย ประชุมกลุ่มย่อย การสำรวจเศรษฐกิจสังคมในเชิงพื้นที่ รวมทั้งการจัดเวทีรับฟังข้อคิดเห็นจากคณะกรรมการลุ่มน้ำประกอบด้วย เพื่อให้สาธารณชนมีส่วนร่วมในการพิจารณาแผนงานให้เหมาะสมกับการพัฒนาในพื้นที่ของตนเอง ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำ เสริมสร้างคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับประชาชนได้อย่างยั่งยืน”ดร.สมเกียรติ กล่าว