เมื่อวันที่ 21 ม.ค. ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์ค่าความเค็มปี64 ผ่านระบบ VDO Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 11-13 โดยมีนายธีระพล ตั๊งสมบุญ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา พร้อมด้วยผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ กรมชลประทาน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ค่าความเค็มในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำท่าจีนเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกไม้ผลในหลายพื้นที่ จึงสั่งการให้ โครงการชลประทานที่เกี่ยวข้อง เร่งหาแนวทางในการป้องกันและแก้ปัญหาดังกล่าว โดยการบริหารจัดการน้ำด้วยการปิด-เปิดประตูระบายน้ำ (ปตร.)ที่มีจุดเชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน ให้สอดคล้องกับจังหวะการขึ้นลงของน้ำทะเลและค่าความเค็ม เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยาอยู่ในเกณฑ์น้อย ไม่เพียงพอในการผลักดันความเค็มได้ตลอดเวลา ซึ่งได้กำหนดแนวทางในการควบคุมค่าความเค็ม โดยการตรวจเช็คค่าความเค็ม ก่อนสูบน้ำเข้าคลองต่างๆ ในช่วงที่ค่าความเค็มลดลง รวมทั้งจดบันทึกระยะเวลาการตรวจสอบ ปริมาณน้ำ และคุณภาพน้ำ เพื่อนำมาวิเคราะห์การบริหารน้ำให้สอดคล้องกัน ตลอดจนติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพน้ำเพิ่มเติม เพื่อให้การตรวจสอบมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ปัจจุบัน (21 ม.ค.64) ค่าความเค็มที่สถานีประปาสำแล แม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อเวลา 7.00 น วัดค่าความเค็มได้ 0.20 กัมต่อลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวัง 0.25 กรัมต่อลิตร มาตรฐานเพื่อการผลิตน้ำประปาไม่เกิน 0.50 กรัมต่อลิตร) อยู่ในเกณฑ์ปกติ ที่สถานีคลองจินดา แม่น้ำท่าจีน วัดค่าความเค็มได้ 0.65 กรัมต่อลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวังสำหรับกล้วยไม้ 0.75 กรัมต่อลิตร เกณฑ์เฝ้าระวังเพื่อการเกษตรไม่เกิน 2 กรัมต่อลิตร) อยู่ในเกณฑ์ปกติ ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ไปตรวจสอบและติดตามสถานการณ์ค่าความเค็มในคลองมหาสวัสดิ์ บริเวณวัดใหม่ผดุงเขต อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ที่ประสบปัญหาน้ำเค็มรุกเข้าพื้นที่เพาะปลูกไม้ดอก นั้น ได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่แก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วน ด้วยการสำรวจคลองที่น้ำเค็มสามารถเข้ามาได้ โดยให้ทำขนบชั่วคราวปิดกั้นไว้ รวมทั้งประสานหน่วยงานระดับท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ ร่วมกันหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะยาวต่อไป