กรมชลประทาน ยังคงเฝ้าระวังและควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำท่าจีนอย่างต่อเนื่อง แม้ปัจจุบันจะมีค่าความเค็มลดลงอยู่ในเกณฑ์ปกติแล้วก็ตาม พร้อมย้ำให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันใช้น้ำอย่างประหยัด ลดเสี่ยงขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต เมื่อวันที่ 18 ม.ค. ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำว่า ปัจจุบัน (17 ม.ค.64) สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 45,744 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 60 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 21,814 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 11,422 ล้าน ลบ.ม หรือร้อยละ 46 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 4,726 ล้าน ลบ.ม. ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งทั้งประเทศ มีการใช้น้ำไปแล้ว 6,409 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 38 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 1,778 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 44 ของแผนฯ สำหรับสถานการณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าหลังจากที่กรมชลประทาน ได้ร่วมกับการประปานครหลวง (กปน.) ปฏิบัติการ Water hammer เพื่อผลักดันน้ำเค็มในแต่ละช่วงเวลา ทำให้วัดค่าความเค็มบริเวณสถานีสูบน้ำประปาสำแล จ.ปทุมธานี ได้ 0.21 กรัมต่อลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวัง 0.25 กรัมต่อลิตร มาตรฐานเพื่อการผลิตน้ำประปาไม่เกิน 0.50 กรัมต่อลิตร) อยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนแม่น้ำท่าจีนที่บริเวณคลองจินดา หลังจากมีการระบายน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองลงมาเจือจางค่าความเค็มผ่านคลองระบายน้ำท่าสาร-บางปลา และทำการสูบน้ำจากแม่น้ำท่าจีนในช่วงที่ค่าความเค็มลดลงเข้าสู่คลองจินดา ล่าสุดเมื่อเวลา 17.15 น. วันนี้ (18 ม.ค.64) พบว่าที่สถานีวัดน้ำปากคลองจินดา บริเวณประตูระบายน้ำ (ปตร.) คลองจินดา ค่าความเค็มด้านนอกปตร.(แม่น้ำท่าจีน) วัดได้ 1.29 กรัมต่อลิตร ในขณะที่ค่าความเค็มด้านในคลองจินดาวัดได้ 0.64 กรัมต่อลิตร อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยจะเฝ้าระวังค่าความเค็มในคลองไม่ให้เกิน 0.75 กรัมต่อลิตร ทั้งนี้ กรมชลประทาน ยังคงเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การรุกล้ำน้ำเค็มอย่างใกล้ชิด และได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทุกแห่ง คุมเข้มแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้งอย่างเคร่งครัด โดยเน้นการส่งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก พร้อมขอความร่วมมือทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งนี้ไปจนถึงต้นฤดูฝนหน้า