มาแปลก แหวกแนวปฏิบัติจากประเทศอื่นๆ ไม่เหมือนใคร สำหรับ “อินโดนีเซีย” เจ้าของฉายาแดน “ อิเหนา” ประเทศที่กล่าวกันว่า เป็นลำดับที่ 2 ของภูมิภาคอุษาคเนย์ คือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อจาก “สิงคโปร์” เจ้าของฉายาแดน “ลอดช่อง” ที่จรดเข็มฉีดยาเพื่อวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ให้แก่ประชากร โดย “ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด แห่งอินโดนีเซีย” ก็ยังกลายเป็นผู้นำประเทศเบอร์ต้นๆ ซึ่งอาจจะเป็นผู้นำคนที่ 2 ของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์อีกเช่นกัน ที่เปิดแขนเสื้อให้เจ้าหน้าที่แพทย์ ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิดฯ ต่อจากนายลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ ซึ่งถูกยกให้ผู้นำประเทศคนแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิดฯ แผกแตกต่างกันแต่เพียงว่า วัคซีนป้องกันไวรัสโควิดฯ ที่นายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง ผู้นำสิงคโปร์ ฉีดเข้าไปเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 ม.ค. สัปดาห์ก่อนหน้านั้น เป็นของบริษัท ไฟเซอร์ ประเทศสหรัฐฯ ที่วิจัยพัฒนาร่วมกับบริษัท ไบโอเอ็นเทค ประเทศเยอรมนี ซึ่งกล่าวกันว่า ทรงประสิทธิภาพด้านการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิดฯ ได้ถึงเกือบร้อยละ 95 สูงที่สุดยิ่งกว่าวัคซีนขนานอื่นๆ จากประเทศต่างๆ ที่แข่งขันวิจัยพัฒนากัน ขณะที่ ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด นิกเนมเรียกกันสั้นๆ “โจโกวี” ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิดฯ เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น เป็นของ “ซิโนวัค” ซึ่งวิจัยพัฒนาโดยบริษัท ซิโนวัค ไบโอเทค ประเทศจีน โดยวัคซีนทั้งสองขนาน ถูกวิพากษ์วิจารณ์เชิงลบกันไปคนละแบบ อย่างวัคซีนของไฟเซอร์ ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับไซด์เอ็ฟเฟ็กต์ ผลกระทบข้างเคียง หลังฉีดไปแล้ว ซึ่งถึงขั้นมีผู้เสียชีวิต เช่น ในรายของพยาบาลที่ประเทศโปรตุเกส แดนฝอยทอง จนต้องสืบสวน สอบสวน กันจ้าละหวั่น นอกจากนี้ ก็ยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดเก็บวัคซีนที่ยากลำบากกว่าขนานอื่นๆ ที่ต้องจัดเก็บไว้ในสถานที่เย็นจัดติดลบหลายสิบองศาเซลเซียส ส่วนวัคซีน “ซิโนวัค” ถูกบ่นๆ เรื่องประสิทธิภาพการป้องกัน หลังบราซิล ถิ่นแซมบา เปิดเผยผลการติดตามทดลองทางคลินิกแล้วพบว่า วัคซีนสายพันธ์แดนมังกรขนานนี้ ป้องกันไวรัสร้ายได้เพียงร้อยละ 50.4 เท่านั้น ต่ำกว่าเดิมที่เคยระบุกันไว้ที่ร้อยละ 78 ด้วยซ้ำ ท่ามกลางกระแสเสียงของความกังขาจากชาวประชาในหลายๆ ประเทศที่มีต่อทางการชาติต่างๆ ถึงกรณีที่ว่า จะยังเดินหน้าจัดซื้อวัคซีนขนานนี้อยู่หรือไม่ อย่างไรก็ดี เมื่อกล่าวถึงอินโดนีเซียแล้ว ทางการจาการ์ตา ก็ได้จรดปากกาลงนามจัดซื้อวัคซีนป้องกันไวรัสโควิดฯ หลายขนาน จากบริษัททั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นซิโนวัค ตามที่กล่าวแล้วข้างต้น ก็ยังมีของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค รวมถึงวัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกา ที่จับมือวิจัยพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งถือเป็นวัคซีนสายพันธุ์จากเมืองผู้ดี อังกฤษ ขนานแท้อีกด้วย ซึ่งวัคซีนแต่ละขนาน ทางบริษัทผู้ผลิต ก็มีกำหนดการส่งมอบให้แก่ทางการอินโดนีเซีย ในระยะเวลาที่แตกต่างกันไป เช่น ไตรมาสแรกของปีนี้บ้าง ลากยาวไปจนถึงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้เลยก็มี โดย “ซิโนวัค” ส่งมอบให้เป็นเจ้าแรก โดยทางการจากการ์ตา ได้เริ่มนำไปจัดสรรฉีดให้แก่ประชาชนกันไปแล้ว เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มประชากรที่รัฐบาลจาการ์ตา จัดสรรการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิดฯ ให้เป็นกลุ่มแรก หลังจากประธานาธิบดี “โจโกวี” ได้รับการฉีดเป็นคนแรกของประเทศไปแล้วนั้น ก็คือ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล ซึ่งเปรียบเสมือน ทัพหน้า หรือด่านหน้าปราการแรก ของการปะทะกับโรคร้ายๆ ซึ่งก็เฉกเช่นประเทศต่างๆ ทั่วๆ ไป หลังจากนั้น ก็เป็นกลุ่มประชากรคนหนุ่มสาว วัยแรงงาน ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกัน ซึ่งถือว่าแปลกแหวกแนวไม่เหมือนกับประเทศอื่นๆ ที่จะให้แก่ประชากรสูงอายุเป็นกลุ่มต้นๆ อาทิ ประเทศอังกฤษ ที่ทางการลอนดอน ฉีดวัคซีนของไฟเซอร์ ให้แก่สตรีสูงวัย ซึ่งมีอายุถึง 90 ปี เป็นคนแรกเลย หรืออย่างประเทศแคนาดา ที่รัฐบาลจัดฉีดวัคซีนของไฟเซอร์เช่นกัน ให้แก่ประชากรที่มีอายุ 89 ปี เป็นคนแรก เช่นเดียวกับเยอรมนี ที่ฉีดให้แก่ประชากรวัยถึง 101 ปี เป็นเข็มแรก เป็นต้น โดยเหตุปัจจัยที่ทำให้ทางการอินโดนีเซีย จัดสรรฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิดฯ ให้ประชากรในช่วงอายุ 18 – 59 ปี เป็นกลุ่มแรกของประเทศต่อจากบุคลากรทางแพทย์ พยาบาลนั้น ก็ด้วยเหตุผลที่ว่า น่าจะทำให้การควบคุมการแพร่ระบาดทำได้ดีกว่าการฉีดให้แก่กลุ่มประชากรผู้สูงอายุ โดยอาจจะส่งผลให้ช่วยลดการแพร่เชื้อในชุมชนได้รวดเร็วกว่าที่จะฉีดให้แก่ผู้สูงวัย จากการที่คนในวัยหนุ่มสาว เดินทางไปไหนมาไหนมากกว่าผู้สูงอายุ เรียกว่า เป็นเหตุผลเรื่องความเคลื่อนไหวทางสังคม นอกจากนี้ ก็ยังมีเรื่องปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ที่คนหนุ่มสาว เป็นวัยแรงงาน มากกว่าผู้สูงวัย การฉีดวัคซีนให้แก่คนหนุ่มสาว จะช่วยป้องกันการติดเชื้อให้แก่คนกลุ่มนี้ ปลอดจากโรคร้าย ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ หรือการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ของประเทศจากการทำงานของพวกเขา อย่างไม่ต้องกังวลว่า จะถูกไวรัสร้ายมารบกวน จนหยุดทำงาน หรือปิดกิจการไป