เมื่อวันที่ 17 ม.ค. ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช ประธานคณะอนุกรรมการนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ และหัวหน้าศูนย์ข้อมูลสารสนเทศ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในครั้งนี้ นอกจากประเด็นความล้มเหลวในการจัดการกับเรื่องของนายทุนบ่อนการพนันและการลักลอบขนแรงงานเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย ที่อาจจะเกี่ยวข้องกับคนมีสี ซึ่งส่งผลทำให้เกิดการระบาดโควิด-19 ในรอบ 2 และจากการที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ที่ค้างคามาช้านาน จนประชาชนต้องต่อสู้กับปัญหาดังกล่าวด้วยตนเอง ยังกลับพบอีกว่ามีการบริหารงบประมาณแผ่นดินในหลายโครงการที่น่าสงสัย เช่น การลงทุน โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (EEC) ใช้พื้นที่ 98,715 ไร่ ซึ่งมีงบประมาณกว่า 527,603 ล้านบาท เป็นโครงการขนาดยักษ์ใหญ่ โดยการร่วมลงทุนของรัฐ – เอกชน หรือ PPP ที่ควรเป็นผลประโยชน์ของคนไทยทุกคน และถือว่านี่คือการเดิมพันของคนไทยทั้งประเทศ เพราะเศรษฐกิจไทยตกต่ำมาตลอด 6 ปี ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาและคณะรัฐมนตรี ควรที่จะใช้เงินภาษีของประชาชนแบบระมัดระวัง ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ กล่าวต่อว่า ส่วนของการเชื่อมการเดินทางโดยรถไฟความเร็วสูงระหว่าง สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง และสนามบินฉะเชิงเทรา รวม 3 สนานบินนั้น นอกจากความหวังจากโครงการนี้คือการพัฒนาเศรษฐกิจแล้ว  เราควรจะพิจารณาว่าการเชื่อมระหว่าง 3 สนามบิน ณ เวลานี้มีความสำคัญและคุ้มค่ากับประเทศไทยจริงหรือ ซึ่งในสัญญาระบุถึงกรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณทางรถไฟ ซึ่งบริษัทเจ้าของสัญญาสามารถพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานี (TOD) โดยที่ดินผืนงามใจกลางกรุงเทพฯ กว่า 457 ไร่ บริเวณย่านมักกะสัน  ความหวังสุดท้ายของพื้นที่สีเขียวของคนกรุงเทพฯ กำลังถูกพัฒนาเป็นคอมเพล็กยักษ์ และที่ดินบริเวณสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งหากทำให้เป็นการเชื่อมระหว่างจังหวัดต่างๆ แทนนั้นจะดีกว่าหรือไม่ เพราะการกระจายความเจริญไปสู่ทุกจังหวัดนั้นมีความสำคัญมากกว่า และจากการที่คณะกรรมการ EEC ที่มาจากส่วนกลาง 27 คน โดยไม่มีคนในพื้นที่แม้แต่คนเดียว มีพล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีนักวิชาการอีก 5 คนเป็นคณะกรรมการ ซึ่งคนจากส่วนกลางจะมีความเข้าใจปัญหาของคนในพื้นที่ได้มากน้อยเพียงใด ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ กล่าวว่า จากการวิเคราะห์เชิงลึก ของศูนย์ข้อมูลสารสนเทศ พรรคเพื่อไทย เชื่อมั่นว่า การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง และสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่การที่ผู้เข้าร่วมโครงการ EEC ได้รับการยกเว้นภาษีนิติบุคคล (Corporate Income Tax) เยอะมากและนานเกินไป ถึง 15 ปี โดยได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าเหลือร้อยละ 0 ซึ่งมีสิทธิประโยชน์ที่มากกว่า BOI หากไม่ใช่อุตสาหกรรมที่เกิดห่วงโซ่อุปทานใหม่ (New Supplier Chain) เราก็ควรจะเก็บภาษีให้เท่ากับอุตสาหกรรมอื่นๆ และนำรายได้นั้นกลับคืนให้กับท้องถิ่น เพื่อให้คนระยอง คนชลบุรี และคนฉะเชิงเทรา ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ EEC ในส่วนของฝุ่นควัน น้ำที่อาจเป็นพิษ เพื่อให้คนในท้องถิ่นที่รู้ซึ้งถึงปัญหาได้จัดการแก้ไขและป้องกันปัญหาอย่างยั่งยืน เพราะพวกเขารู้ว่าจะต้องแก้ไขอย่างไรให้ดีที่สุด และจากการที่บริษัทที่เข้าร่วมกับ โครงการ EEC ได้รับการยกเว้นกฎหมายที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมและการจัดสรรที่ดิน ให้อำนาจรัฐเวนคืนที่ดินในเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น จะดีแล้วหรือ เพราะมันจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ที่ชาวบ้านทำการเกษตร แหล่งผลิตอาหาร ขวางทางน้ำ และการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะกระทบต่อระบบสาธารณูปโภคของ ปตท. ทั้งท่อน้ำมันและท่อก๊าสธรรมชาติ และหากต้องมีการรื้อถอนระบบสาธารณูปโภคทั้งหมด จะต้องใช้งบประมาณสูงถึง 4,000 ล้านบาท แล้วใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ หาก พล.อ.ประยุทธ์ อยากส่งเสริมระบบเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ควรที่จะเอาภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวกระจายไปตามจังหวัดต่างๆ จะดีกว่าหรือไม่ เพราะคนต่างจังหวัดจะได้ไม่ต้องเข้ามาทำงานในกทม.เพียงอย่างเดียว และจะเกิดอะไรขึ้นหากบริษัทต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการ EEC พร้อมใจกันใช้แต่หุ่นยนต์ ภาษีก็ไม่ต้องเสีย คนไทยจะได้รับผลประโยชน์อย่างไร  ดังนั้น พรรคเพื่อไทย ขอเสนอโครงการไทยทำ โดยเน้นที่สินค้าของคนไทย (Made in Thailand) คิดและผลิตโดยคนไทย ซึ่งอุตสาหกรรมนั้นควรจะต้องกระจายไปในทุกภาค ไม่ใช่มุ่งเน้นเฉพาะ 3 จังหวัดเท่านั้น