ชี้เปิดเดินรถเต็มระบบต้องมีภาระค่าใช้จ่าย ต้องปรับอัตราใหม่ โดยสายสีเขียวหลักเดิมไม่กระทบ ขณะอัตราเต็มตลอดสายอยู่ที่ 158 จะลดเหลือ 104 เพื่อช่วยบรรเทาช่วงโควิด เตรียมเสนอครม.แก้สัญญาสัมปทาน จะช่วยให้ราคาลดลงเหลือ 65 บ.และแก้ปัญหาหนี้กว่า 1.2 แสนล้านของกทม.ได้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม.ได้ลงนามในประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องการกำหนดค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เมื่อวันที่ 15 ม.ค.64 โดยมีคำชี้แจงต่อการปรับอัตราค่าโดยสารของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งหมด ความว่า จากที่กทม.ได้เปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต โดยทยอยเปิดเดินรถตั้งแต่ 3 เม.ย.61 และเปิดเต็มทั้งระบบเมื่อ 16 ธ.ค.63 ซึ่งในช่วงทดลองให้บริการที่ยังไม่มีการเดินรถเต็มรูปแบบโดยไม่มีการเก็บค่าบริการมาเกือบ 3 ปีแล้ว เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน แต่เมื่อขณะนี้ได้เปิดเดินรถทั้งระบบแล้ว กทม.มีภาระค่าใช้จ่ายในการเดินรถสายสีเขียวส่วนต่อขยาย จึงจำเป็นต้องเริ่มเก็บค่าโดยสารในส่วนต่อขยาย ตั้งแต่ 16 ก.พ.64 โดยผู้ใช้บริการในส่วนหลักช่วงหมอชิต-อ่อนนุช จะไม่ได้รับผลกระทบ ยังจ่ายค่าโดยสารในอัตราเดิมและไม่มีการเรียกเก็บค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนกัน ระหว่างสายสีเขียวส่วนหลัก (หมอชิต-อ่อนนุช และสะพานตากสิน-สนามกีฬาแห่งชาติ) และสายสีเขียวส่วนต่อขยาย (ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า และอ่อนนุช-แบริ่ง และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) โดยผู้ใช้บริการจะจ่ายค่าแรกเข้าสำหรับการใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเพียงครั้งเดียวต่อรอบ ตามปรากฏดังตารางด้านล่างนี้ ทั้งนี้ อัตราค่าโดยสารของโครงการสายสีเขียวสูงสุดตลอดสายจะอยู่ที่ 158 บาท แต่เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 กทม. จะปรับอัตราค่าโดยสารสูงสุดตลอดสายอยู่ที่ 104 บาท ซึ่ง กทม. จะมีผลขาดทุนจากการดำเนินการส่วนต่อขยายประมาณปีละ 3,000-4,000 ล้านบาท เมื่อนับรวมตั้งแต่ปี 64 จนถึงปี 72 จะมีผลขาดทุนถึงประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท รายละเอียดปรากฏตามตารางเปรียบเทียบด้านล่างนี้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กทม.ได้ตระหนักถึงผลกระทบของประชาชนกับการปรับค่าโดยสาร โดยพยายามหาทางแก้ไข รวมถึงศึกษาแนวทางต่างๆ ซึ่ง กทม. เห็นว่าแนวทางร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public-Private Partnership: PPP) เหมาะสมและดีที่สุดที่จะมาแก้ปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยจะให้เอกชนเข้ามารับภาระหนี้สินของ กทม. เพื่อที่จะทำให้ กทม. สามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ไม่เป็นภาระต่อประชาชนจนเกินสมควร และ จะทำให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณะที่ปลอดภัย สะดวก และมีประสิทธิภาพเหมือนเดิม ปัจจุบันนี้ กทม. อยู่ระหว่างนำเสนอแก้ไขสัญญาสัมปทานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งหากเห็นชอบแล้ว การแก้ไขสัญญาสัมปทานนี้จะช่วยลดอัตราค่าโดยสารสูงสุดจาก 104 บาท เป็น 65 บาท ลดลง 39 บาท และแก้ไขภาระหนี้สินกว่า 120,000 ล้านบาทของ กทม. ได้ ซึ่งประกอบด้วย ภาระหนี้สินเดิมที่เกิดขึ้นจากการรับโอนโครงการส่วนต่อขยายที่ 2 ทั้งในส่วนเงินต้นค่างานโยธาที่ประมาณ 55,000 ล้านบาทและภาระดอกเบี้ยในอนาคตอีกประมาณ 10,000 ล้านบาท ค่าลงทุนในงานระบบ (E&M) ในส่วนต่อขยายที่ 2 ประมาณ 20,000 ล้านบาท ภาระหนี้ค่าจ้างงานเดินรถค้างจ่ายอีกประมาณ 9,000 ล้านบาท และภาระผลขาดทุนจากการดำเนินการส่วนต่อขยายตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปี 2572 รวมอีกประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท นอกจากนี้ เอกชนยังต้องแบ่งส่วนแบ่งรายได้ค่าโดยสารหลังปี 2572 ให้ กทม. อีกกว่า 200,000 ล้านบาท และมีส่วนแบ่งเพิ่มเติมในกรณีที่ผลประกอบการจริงดีกว่าที่คาดการณ์ตอนเจรจา กทม. ยืนยันว่า ภายใต้อำนาจของ กทม. จะพยายามแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวอย่างดีที่สุดเพื่อให้ลดผลกระทบและความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด โดย กทม. จะอธิบายถึงเหตุผลความจำเป็นและประโยชน์ที่จะได้รับจากการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนต่อรัฐบาล เพื่อที่จะให้สามารถปรับอัตราค่าโดยสารให้ค่าโดยสารของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดสายลดลงมาเหลือ 65 บาทโดยเร็วที่สุด