ผศ.ดร.สุทธิกร กิ่งเเก้ว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านธุรกิจระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยถึงตัวเลขภาพรวมเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทยปี 2563ว่า เศรษฐกิจดิจิทัลครอบคลุมทั้งอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจเรียกรถและสั่งอาหารออนไลน์ การท่องเที่ยวออนไลน์ และสื่อออนไลน์ มีมูลค่าสูงถึง 5.4 แสนล้านบาท คาดเติบโตเฉลี่ย 25% ต่อปี ไปอีก 5 ปี ระบุโควิดฯ ดันตลาดอีคอมเมิร์ซโตถึง 81% ชดเชยการชะลอตัวของธุรกิจท่องเที่ยวออนไลน์ ขณะที่ธุรกิจเรียกรถ-สั่งอาหารผ่านแอปฯ มีมูลค่ารวมสูงถึง 3.3 หมื่นล้านบาท พร้อมก้าวกระโดดเป็น 2 แสนล้านบาทในอีก 5 ปีข้างหน้า แนะภาครัฐปรับตัวและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเพื่อต่อยอดธุรกิจแทนการออกกฎหมายฉุดรั้งเศรษฐกิจดิจิทัล ขณะที่ภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย อ้างอิงจากรายงาน e-CONOMY SEA 2020 โดย Google, Temasek, Bain & Company นั้น การใช้อินเทอร์เน็ตในอาเซียนเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง พบว่ามีผู้ใช้รายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 40 ล้านราย โดยเพิ่มจาก 360 ล้านรายในปี 2562 เป็น 400 ล้านรายในปี 2563 ทั้งนี้จากรายงานยังระบุว่า ประชากรอาเซียนใช้อินเตอร์เน็ตเฉลี่ยมากกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่คนไทยใช้เวลา มากถึง 3.7 ชั่วโมงต่อวัน ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และขยับเป็น 4.6 ชั่วโมง ในช่วงที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ ซึ่งค่าเฉลี่ยปัจจุบันอยู่ที่ 4.3 ชั่วโมงต่อวัน โดยผู้ใช้ 8 ใน 10 รายมองว่าเทคโนโลยีมีประโยชน์อย่างมากในช่วงการระบาดของโควิด เทคโนโลยีได้กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจําวันของผู้คน ดังนั้นจากแนวโน้มที่คนอาเซียนและคนไทยใช้เวลาไปกับอินเตอร์เน็ตมากขึ้นนั้น จะส่งผลทำให้อัตราการเติบโตของธุรกิจการค้าออนไลน์ (อีคอมเมิร์ซ) พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ประเทศไทยพบว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตมากถึง 81% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า นับเป็นการก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว "มูลค่าสินค้าในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยในปี 2563 มียอดรวมประมาณ 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5.4 แสนล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 7% เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา และคาดการณ์ว่า ในปี 2568 เศรษฐกิจดิจิทัลไทยจะมีมูลค่าสูงถึง 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.59 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยมากถึง 25% ต่อปี และจะส่งผลต่อกิจการให้เติบโตสูงขึ้นเฉลี่ย 45% ต่อปี ต่อเนื่องจนถึงปี 2568 ทั้งนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา ส่งผลดีต่อธุรกิจบริการสั่งอาหารออนไลน์ซึ่งเติบโตถึงกว่า 42% อันเป็นผลมาจากนโยบายล็อคดาวน์ การหลีกเลี่ยงการเดินทางออกนอกบ้าน เทรนด์การทำงานจากที่บ้าน (Work From Home)" ผศ.ดร.สุทธิกร กล่วว่า สำหรับประเทศไทยซึ่งปัจจุบันภาครัฐอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อผลักดันให้บริการ “เรียกรถผ่านแอปฯ” เป็นเรื่องถูกกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี และสมควรเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่การที่ภาครัฐ โดยกระทรวงคมนาคม ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำร่างกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารแบบบริการทางเลือก พ.ศ. …. (ร่างกฎกระทรวงฯ) กำหนดเงื่อนไขบางอย่าง ที่อาจไม่สอดรับกับกระแสความเปลี่ยนแปลงและเป็นไปของเทคโนโลยี โดยเฉพาะการกำหนดโควต้าของรถยนต์ส่วนบุคคลที่จะเข้าร่วมให้บริการดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่ภาครัฐจะต้องพิจารณาปรับแก้ไข ซึ่งในฐานะนักวิชาการด้านธุรกิจดิจิทัลมีความเห็นว่าควรจะตัดส่วนนี้ออกก่อนประกาศใช้อย่างเป็นทางการ "นับเป็นเรื่องที่ดีที่ภาครัฐจะเดินหน้าผลักดันให้มีรถยนต์โดยสารแบบบริการทางเลือก (เรียกรถผ่านแอปฯ) แบบถูกกฎหมาย แต่การผลักดันและส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลนั้น ภาครัฐจะทำงานหรือกำหนดตัวบทกฎหมายในรูปแบบเดิมไม่ได้ ควรต้องเปิดโอกาสและรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพในการเลือกทำอาชีพใดๆ รวมถึงกลไกตลาด และที่สำคัญบริบทด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคดิจิทัล ซึ่งการควบคุมแบบเดิมๆ อย่างการกำหนดโควต้าอาจจะเป็นเรื่องล้าหลังที่ถ่วงการพัฒนาของภาคธุรกิจ" ผศ.ดร.สุทธิกร กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ และภาครัฐเองจะต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้มากที่สุดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงยกระดับเศรษฐกิจไทยด้วยระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อผลักดันประเทศให้เข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ในส่วนการควบคุมและกำกับดูแลนั้นเป้าหมายหลักคือเพื่อสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมและระบบเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพมากกว่าปกป้องผู้ประกอบการกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ไม่ต้องการปรับตัว