การระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงเป็นปัญหาต่อเนื่องของธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการเดินทางที่เวลานี้ทั่วโลกต้องเผชิญอย่างหนักหน่วง จนถึงต้องลดขนาด หรือปิดกิจการเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ “ธุรกิจการบิน” ทั้งนี้ “ธุรกิจการบิน” ได้รับผลกระทบการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างหนักหน่วง และรุนแรงทั่วโลก เพราะประเทศหลายประเทศแทบจะชัตดาวน์ตัวเอง และห้ามบินไปมาหาสู่กัน หรือจะเรียกได้ว่า เป็นครั้งแรกที่ธุรกิจการบินโดนหนักขนาดนี้ โดยที่ผ่านมาคนทั่วไปมองว่าเป็นอาชีพที่มั่นคง รายได้ดี แต่กลับตกงานกันเป็นหางว่าว! “องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ”(ไอเคโอ) ระบุว่า ไวรัสโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรม การบินทั่วโลกต้องสูญเสียรายได้ในปี 2563 อย่างมหาศาล 4-5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่นเดียวกับ “สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ” หรือ ไออาต้า ก็ระบุว่า สายการบินทั่วโลกขาดทุนรวม 1.185 แสนล้านดอลลาร์ ดังนั้นทำให้หลายสายการบินต้องปรับลดต้นทุนการดำเนินงานอย่างเร่งด่วน มาตรการที่ได้ผลทันตาคือการประกาศเลิกจ้างพนักงาน หันมามองที่ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ธุรกิจการบินได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากหลายพื้นที่ในประเทศกลายเป็นพื้นที่สีแดง ซึ่งทาง “ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” (โควิด-19) หรือ ศบค. เผยว่า ได้ประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือพื้นที่สีแดง ใน 28 จังหวัด พร้อมระบุ 8 ข้อกำหนดสำหรับประชาชน หนึ่งในนั้นคือ “ให้งดการเดินทางข้ามจังหวัด และให้ตรวจคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัดจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด” ขณะที่บางจังหวัดมีคำสั่งให้ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่สีแดงต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมาก ตัดสินใจยกเลิกการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นทางรถโดยสาร รถไฟ หรือเครื่องบิน จึงนับเป็นการส่งสัญญาณของการเก็บเนื้อ เก็บตัวของประชาชน ให้งดการเดินทางไปยังพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อลดความเสี่ยงของการติดไวรัสโควิด-19 ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจการบินแทบล้มทั้งยืน!!! ซึ่งธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการบิน อย่างเช่น “นายทินกร ชูวงศ์” รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จํากัดหรือ บวท.(ปฏิบัติการ) ระบุคาดการณ์ปริมาณเที่ยวบินปี 2564 ว่า สถานการณ์ยังคงอยู่ภายใต้การได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 แต่จะมีแนวโน้มดีขึ้น หากมีความเป็นไปได้ในการนำวัคซีนมาใช้ในอนาคต รวมถึงปัจจัยการกระตุ้นเศรษฐกิจจากนโยบายของรัฐบาล แต่การเพิ่มขึ้นดังกล่าวยังอยู่ในอัตราแบบชะลอตัว ซึ่งการคาดการณ์เที่ยวบินในภาพรวมจะมีการปรับตัวดีขึ้นจากปัจจัยบวกต่าง ๆ แต่อาจมีการชะลอตัวหากการระบาดระลอกใหม่มีความรุนแรง ซึ่งคาดว่าจะกระทบในระยะสั้นและจะกลับมาปรับตัวดีขึ้นหลังจากนั้น ทั้งนี้สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ได้ประเมินผลกระทบจากโรค COVID-19 ต่อธุรกิจการบินทั่วโลกว่าจะกลับมาสู่ภาวะปกติเท่ากับช่วงเวลาก่อนได้รับผลกระทบประมาณปี 2566 - 67 โดยเที่ยวบินภายในประเทศจะกลับมาทำการบินได้เร็วกว่าเที่ยวบินระหว่างประเทศ เช่นเดียวกับ “น.ท. สุธีรวัฒน์ สุวรรณวัฒน์” ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ยอมรับว่าผลกระทบจากการระบาดของไวรัส โควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลกระทบโดยตรงกับจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เนื่องจากจังหวัดสมุทรปราการ เป็นพื้นที่สีแดงควบคุมสูงสุด ส่งผลให้จังหวัดปลายทางของเที่ยวบินยกระดับการคัดกรอง โดยเฉพาะมาตรการต้องกักตัว 14 วัน จึงทำให้ผู้โดยสารไม่สะดวก และหลีกเลี่ยงการเดินทางในช่วงนี้ โดยก่อนหน้าการระบาดโควิดระลอกใหม่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีผู้โดยสารเดินทางเฉลี่ยวันละ 27,000 คนและสูงสุด ในช่วงวันสุดสัปดาห์ประมาณ 40,000 คน แต่ล่าสุดสุวรรณภูมิมีผู้โดยสารไม่ถึงวันละ 8,000 คน โดยแม้ว่าขณะนี้จำนวนผู้โดยสารจะลดลงแต่ยืนยันว่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิก็ยังเข้มงวด มาตรการ เฝ้าระวังป้องกันการระบาดของไวรัส โควิด-19 สูงสุด ซึ่งได้ดำเนินการตั้งแต่การระบาดในรอบแรกไปแล้ว ส่วนผู้ให้บริการสายการบิน “นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลกระทบโดยตรงกับบริการสายการบินอย่างหนัก นับตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2563 เที่ยวบินของไทยแอร์เอเชีย บินตรงไปจังหวัดภูเก็ต 5 เที่ยวบิน/วัน เคยมีผู้โดยสารกว่า 100 คน /ไฟลท์ ขณะนี้เหลือไฟลท์ละ 10 ถึง 20 คนเท่านั้น ทำให้สายการบิน ให้บริการลำบากมากขึ้น และโควิดส่งผลกระทบการให้บริการต่อผู้โดยสาร ทำให้ไม่สะดวก เพราะต้องคุมเข้มหลายมาตรการ นอกจากนี้กรณี ครม. เตรียมออกมาตรการเยียวยาผลกระทบจากไวรัส โควิด-19 ระลอกใหม่ สายการบินเคยยื่นขอให้ภาครัฐสนับสนุนแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปี 63 วงเงินรวม 2.4 หมื่นล้านบาท ขณะนี้ได้ลดวงเงินขอสนับสนุน เหลือเฉพาะเงิน ค่าจ้างพนักงาน ช่วงเดือน ธ.ค .63 – ธ.ค. 64 วงเงินรวม 1.4 หมื่นล้านบาท ขณะนี้ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ โดยแอร์เอเชีย และสายการบินทั้งหมด ยอมรับว่า คงเลิกหวังกับมาตรการดังกล่าวแล้ว ปัจจุบันสายการบิน ได้พยายามช่วยเหลือตัวเอง โดยในส่วนของแอร์เอเชีย กำลังเร่งขอกู้เงินจากสถาบันการเงินอื่น และใช้การระดมทุนเพิ่มเติมโดยการออกหุ้นกู้จากนักลงทุน แต่ล่าสุด ณ เวลานี้ เริ่มมีสัญญาณที่ดีกับกระแสข่าวที่หลายประเทศเริ่มคิดค้นวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ทั้งสหรัฐอเมริกา อังกฤษ รัสเซีย จีน และก็เริ่มที่จะมีการฉีดให้กับบุคคลสำคัญ และบุคลากรที่มีความเสี่ยงกับการที่จะได้รับเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่จะได้ผลได้100% หรือไม่ต้องรอลุ้นผลกันต่อไป! ดังนั้น “วัคซีน” ถือเป็นตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดชะตาของอุตสาหกรรมการบินของไทยและโลก เพราะมันจะเกี่ยวข้องกับนโยบายการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยและทั่วโลก!!