ยุคใคร ยุคมัน สมนามตามคำผู้รู้ท่านว่าไว้ สำหรับการที่ผู้นำทางการเมือง การปกครอง ส่งคนของตนไปเป็นมือ เป็นไม้ บริหารงานในองค์กร หน่วยงานต่างๆ อย่างกรณีล่าสุด ที่ “นายโจ ไบเดน” กำลังจะก้าวขึ้นดำรงตำแหน่ง “ประธานาธิบดีสหรัฐฯ” อย่างเป็นทางการ ในอีกไม่กี่อึดใจข้างหน้า ก็ได้สรรหาบุคคลเพื่อมาดำรงตำแหน่ง “บิ๊กบอส” คือ ผู้นำของหน่วยงานที่ได้รับการกล่าวขวัญมากที่สุดในโลกหน่วยงานหนึ่ง นั่นคือ “สำนักงานข่าวกรองกลาง” หรือ “หน่วยสืบราชการลับ” หรือ “ซีไอเอ” ที่ทั่วโลกเรียกขานจนฮิตติดปากกัน เมื่อมีรายงานว่า ว่าที่ประธานาธิบดีไบเดน ได้เสนอชื่อ “นายวิลเลียม โจเซฟ เบิร์นส์” หรือ “วิลเลียม เจ.เบิร์นส์” ให้มาดำรงตำแหน่ง “ผู้อำนวยการ” หรือ “ผอ.” ของ “ซีไอเอ” คนใหม่ แทน “นางจีนา แฮสเพล” ผอ.ซีไอเอ คนปัจจุบัน ที่ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่ง ในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ ที่กำลังจะหมดวาระ คือ พ้นตำแหน่งไปด้วยกัน ตามยุคสมัย ยุคใคร ยุคมัน ตามที่เกริ่นไว้ข้างต้น โดยการเสนอชื่อนายเบิร์นส์ ก็สามารถเรียกเสียงฮือฮาให้แก่คนในวงการสายลับโลกกันอย่างขรม ด้วยความชื่นชมแทบจะถ้วนหน้า ทั้งนี้ ก็เพราะหากได้รับไฟเขียว การอนุมัติจากสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ หรือสภาซีเนต ตามที่ว่าที่ประธานาธิบดีไบเดน เสนอชื่อขึ้นไปให้พิจารณาแล้วหล่ะก็ นายเบิร์นส์ ซึ่งปัจจุบันมีอายุ 64 ปี ก็จะเป็น “นักการทูตคนแรก” ในประวัติศาสตร์สหรัฐ ที่ได้ดำรงตำแหน่ง “ผอ.ซีไอเอ” แถมมิหนำซ้ำ ก็มิใช่นักการทูตระดับธรรมดา แต่เป็นระดับ “บิ๊กเนม” คือ เคยดำรงตำแหน่ง “เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศจอร์แดน และ “ประจำประเทศรัสเซีย” มาก่อน โดยเขาคร่ำหวอดในแวดวงการทูตมานานถึง 33 ปี ด้วยกัน ใช่แต่เท่านั้น นายเบิร์นส์ ยังเคยดำรงตำแหน่ง “รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรงการต่างประเทศ” อันเป็นกระทรวงที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการเมือง การปกครองของสหรัฐฯ อีกด้วย อย่างไรก็ดี การสร้างประวัติศาสตร์ในทำนองคล้ายกันนี้ ก็มีมาแล้ว แต่ “กลับตาลปัตร” กัน ในสมัยของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ใกล้จะหมดวาระอยู่รอมร่อ ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์ ได้เลือกสรรให้ “ผอ.ซีไอเอ” มาดำรงตำแหน่ง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ” คนปัจจุบัน นั่นคือ “นายไมค์ ปอมเปโอ” ส่งผลให้เขาเป็น “ผอ.ซีไอเอ” คนแรกในประวัติศาสตร์ ที่ได้ดำรงตำแหน่งเจ้ากระทรวงการต่างประเทศเมืองลุงแซมแห่งนี้ กล่าวถึงการที่นายไบเดน เลือกสรรนายเบิร์นส์ ให้มานั่งเก้าอี้ ผอ.สายลับแห่งแดนมะกัน จนได้เรียกเสียงแซ่ซ้องสรรเสริญข้างต้นนั้น ก็อาทิ นายมาร์ก โปลีเมโรโปอูลอส อดีตเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการอาวุโสของซีไอเอ เอ่ยปากว่า เป็นการเลือกสรรที่ยิ่งใหญ่ของนายไบเดนเลยทีเดียว ในฐานะคร่ำหวอดด้านการต่างประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางและรัสเซีย ซึ่งเคยร่วมงานกันมา เพราะภูมิภาคทั้งสองแห่ง อดีตสายลับซีไอเอรายนี้ มีปฏิบัติการในพื้นที่ดังกล่าวมาแทบตลอดชีวิตการทำงาน เช่นเดียวกับนายไมเคิล เฮย์เดน อดีต ผอ.ซีไอเอ สมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช กล่าวว่า นายเบิร์นส์ ถือเป็นตัวเลือกที่มหัศจรรย์เลยก็ว่าได้ รวมถึงนายจอห์น เบรนแนน อดีต ผอ.ซีไอเอ กล่าวชมว่า นายเบิร์นส์มีกิตติคุณอันโดดเด่น เคยทำงานร่วมกับซีไอเอ ระหว่างที่เขาเป็นนักการทูตในฐานะประธาน หรือหัวหน้าภารกิจในต่างแดนมาแล้ว เหตุปัจจัยที่ทำให้นายไบเดน เลือกนายเบิร์นส์ ทั้งๆ ที่แต่แรกเริ่มนายไบเดน เลือกนายโทมัส โดนิลอน อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ สมัยอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา แต่ได้รับการปฏิเสธไปนั้น ก็เพราะว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ ต้องการให้หน่วยงานสายลับหน่วยงานนี้ มีบูรณภาพขององค์กรมากขึ้น อย่างไม่เลือกข้าง สร้างความเชื่อมั่นให้ฟื้นคืน รวมถึงให้มีความร่วมมือด้านข่าวกรองกับพันธมิตรต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ว่ากันถึง วิสัยทัศน์ของว่าที่ ผอ.ซีไอเอคนใหม่ เปิดใจเกี่ยวกับหน่วยงานสายลับที่เขาจะไปเป็นบิ๊กบอสคนใหม่ว่า ซีไอเอจะต้องรับมือกับภัยคุกคามต่างๆ จากบรรดาชาติมหาอำนาจคู่แข่งทั้งหลาย เช่น รัสเซีย จีน การก่อการร้าย การโจมตีทางไซเบอร์ รวมถึงรับมือกับความท้าทายใหม่แต่ทรงอำนาจมากขึ้น นั่นคือ ภาวะโลกร้อน รวมถึงความมั่นคงด้านสาธารณสุข ที่กำลังถูกคุกคามจากไวรัสโควิด-19 ณ ชั่วโมงนี้