นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการวิเคราะห์ส่งออกไทยปี 2564 ฝ่าวิกฤติโควิด-19 ว่า สถานการณ์การค้าโลกในปีนี้เชื่อว่าจะสามารถพลิกฟื้นกลับมาเป็นบวกได้ โดยหลายหน่วยงานประเมินเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวอยู่ที่ 4-5% ในขณะที่การส่งออกของไทยเชื่อว่าจะยังได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้การส่งออกในปีนี้กลับมาเป็นบวกที่ 3.6% โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกของไทยในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวเป็นบวกได้นั้นเกิดจากปัจจัยหลักคือ การฟื้นตัวของประเทศคู่ค้าและการมีวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ซึ่งจะส่งผลทำให้เศรษฐกิจของประเทศต่างๆฟื้นตัว โดยเวลานี้มีความเป็นห่วงว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนและแผนในการกระจายวัคซีนจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยวัคซีนหลายตัวมีข่าวประสิทธิภาพไม่ได้ตามที่มีการประกาศไว้ รวมถึงมีวัคซีนไม่เพียงพอกับความต้องการของประชากรโลกจะทำให้การส่งออกในปีนี้กลับมา -0.8% ดังนั้นต้องคิดตามปัญหาในด้านต่างๆอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ในปี 64 ยังมีปัจจัยเสี่ยงเช่น 1.การฉีดวัคซีนต้านโควิดไม่ครอบคลุมประชากรโลก 2.เงินบาทยังมีทิศทางแข็งค่าต่อเนื่อง 3.ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน ส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าทั้งทางบกและทางน้ำสูงขึ้น 4.ผลกระทบจากการทำ FTA ระหว่างสหภาพยุโรปและเวียดนาม (EVFTA) สำหรับกรณีผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้ตามเป้าหมาย (40% ของประชากรโลก) ไทยจะมีมูลค่าการส่งออก 237,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือขยายตัว 3.6% แต่หากไม่สามารถผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้ตามเป้าหมาย และจำนวนผู้ติดโควิดวันละ 7-8 แสนคน ไทยจะมีมูลค่าการส่งออก 227,165 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือหดตัว -0.8% “ผลกระทบจากการที่ปริมาณวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ไม่เพียงพอจะมีผลต่อการส่งออกของไทย คือ กำลังซื้อจากตลาดต่างประเทศยังไม่ฟื้นตัว 100% อีกทั้งจะทำให้เกิดความไม่มั่นใจต่อสินค้าไทยในตลาดโลก และมีการตรวจเข้มงวดมากขึ้นในสินค้าที่นำเข้าจากประเทศไทย ส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งสินค้ายังอยู่ในระดับที่สูง” นายอัทธ์กล่าวถึงแนวทางการทำตลาดสินค้าเกษตรไทยในต่างประเทศว่า สนับสนุนให้มีการล็อกดาวน์ในพื้นที่ที่ผลิตสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออกเป็นระยะเวลา 1 เดือน การผลิตสินค้าควรมีระบบตรวจสอบย้อนกลับได้ การทำประกันภัยแก่ผู้บริโภคในต่างประเทศ รวมทั้งการติดสติ๊กเกอร์รับรองสินค้าไทย Covid Free โดยแนวโน้มเงินบาทปีนี้มองว่า ทิศทางยังแข็งค่าต่อเนื่องจากปลายปี 63 คาดว่าค่าเงินบาทเฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับ 31.00 บาท/ดอลลาร์ (กรอบ 30.00-32.00) แข็งค่าจากทั้งปี 63 ที่ระดับ 31.29 บาท/ดอลลาร์ การที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นทุก 1% จะมีผลให้มูลค่าการส่งออกลดลง 0.11% ขณะที่ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน ทำให้ต้นทุนการขนส่งสูงขึ้น 3-5 เท่า และส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในปี 64 ลดลง 5,159 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น -2.2% ดังนั้นจึงเสนอให้รัฐบาลตั้งกองทุนช่วยเหลือภาระต้นทุนค่าขนส่งทางเรือแก่ผู้ประกอบการส่งออก ตลอดจนการช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านภาษี เพื่อแบ่งเบาค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น รวมทั้งหาช่องทางระบายสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทย โดยการขนส่งสินค้าทางบกและอากาศ ซึ่งภาครัฐควรทำความร่วมมือกับภาคธุรกิจโลจิสติกส์ในเรื่องของค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังมีปัจจัยอื่นๆเพิ่มเติมที่ต้องติดตาม เนื่องจากจะมีผลต่อการส่งออกของไทยในปีนี้คือ นโยบายสำคัญของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ทั้งนโยบายด้านเศรษฐกิจการค้า,ภาษีและการจ้างงาน,การต่างประเทศ,สิ่งแวดล้อม และสาธารณสุข นอกจากนี้ภายหลังจากที่อังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ต้องติดตามผลกระทบของข้อตกลงการค้าและความร่วมมือระหว่างอังกฤษกับสหภาพยุโรป (UK-EU Trade and Cooperation Agreement : TCA) คาดว่าจะไม่มีผลกระทบต่อาการส่งออกของไทยในภาพรวมมากนัก เพราะสิ่งสำคัญคือขึ้นอยู่กับศักยภาพของสินค้าไทยเองมากกว่า,เงินปอนด์จะกลับมาแข็งค่าขึ้น และส่งผลดีต่อการส่งออกไทยไปอังกฤษ หลังจากนี้จะมีมาตรฐานสินค้าและการกีดกันทางการค้าของอังกฤษเพิ่มขึ้นใหม่ ขณะเดียววกันต้องไม่ประมาทสินค้าจากเวียดนาม เพราะมีต้นทุนต่อหน่วยและค่าขนส่งถูกกว่าสินค้าไทยในตลาดอังกฤษ เป็นต้น “ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่ยังคงมีการแพร่ระบาดต่อเนื่องมาจากปีก่อนนั้น เชื่อว่าสินค้าส่งออกของไทยในกลุ่มที่ยังมีศักยภาพดี จะเป็นสินค้าและอาหารที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพและสุขอนามัยของผู้บริโภค เช่น ถุงมือยางธรรมชาติ,อาหารเพื่อสุขภาพ,สมุนไพรและเครื่องสำอาง เป็นต้น”