"FPI"ปักธงปี 64 กลับสู่โหมดการเติบโตอีกครั้ง ตั้งเป้ารายได้เพิ่มขึ้น 15% จากปีก่อน ผลจากการรับรู้รายได้จากงานในมือที่มีคำสั่งซื้อล่วงหน้าไว้แล้วกว่า 600-700 ล้านบาท ขณะที่บริษัทย่อยที่อินเดีย “FPI AUTOPARTS INDIA PRIVATE LIMITED” สัญญาณดีมีออเดอร์เพิ่ม ระบุปีนี้จะรับรู้รายได้ทั้งหมดจากอินเดีย ลุยงาน OEM เต็มสปีด พร้อมเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ สร้างรายได้ สนับสนุนอนาคตเติบโตอย่างมั่นคง สร้างผลตอบแทนที่ดีให้ผู้ถือหุ้น นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) (FPI) เปิดเผยว่าภาพรวมการดำเนินธุรกิจในปี 2564 จะมีทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากบริษัทมีงานในมือ ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อล่วงหน้า(Backlog)ไว้แล้วประมาณ 600-700 ล้านบาท และแนวโน้มธุรกิจรับผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ประเทศอินเดียผ่าน FPI AUTOPARTS INDIA PRIVATE LIMITED ซึ่งเป็นบริษัทย่อย มีคำสั่งซื้อเข้ามามากขึ้น คาดว่าในปีนี้จะเป็นปีแรกที่สามารถรับรู้รายได้ทั้งหมดจาก หลังจากเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นเรียบร้อยแล้ว "ในปี 2564 คาดว่าธุรกิจที่อินเดีย จะเริ่มเทิร์นอะราวด์ หลังจากที่บริษัทฯเข้าซื้อหุ้นทั้งหมด ทำให้สามารถควบคุมต้นทุนในด้านต่างๆได้ดี และขณะนี้ได้เริ่มทำการตลาดในอินเดียแล้ว ทำให้มีออเดอร์เข้ามาต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อว่าระยะยาวอินเดียเป็นประเทศขนาดใหญ่ มีกำลังซื้อค่อนข้างมาก รวมทั้งจะทำให้สามารถเป็นฐานผลิตให้กับ FPI ได้โดยใช้เป็นฐานในการส่งออก เพราะต้นทุนคาแรงต่ำกว่าไทย" ทั้งนี้ปัจจุบันบริษัทได้รับงานที่เป็น OEM จากค่ายรถยนต์ต่างๆ โดยเฉพาะการทำสัญญารับจ้างผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ให้กับ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ในรุ่น รีโว,ฟอร์จูนเนอร์ ล่าสุดมีออเดอร์ในส่วนของรถยนต์รุ่นที่ออกใหม่เข้ามาเพิ่มได้แก่ โตโยต้าครอส,รีโว่ ร็อคโค่,ฟอร์จูนเนอร์ รวมถึงค่ายรถยนต์ยี่ห้อฟอร์ด,นิสสัน,มิตซูบิชิ ส่งผลให้งานด้าน OEM ของบริษัทเติบโตได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้บริษัทอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาสินค้านวัตกรรมใหม่ โดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อจะผลิตสินค้ารองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคต ซึ่งจะช่วยทำให้มีรายได้เพิ่ม สนับสนุนบริษัทฯมีการเติบโตได้อย่างมั่นคง อย่างไรก็ตามสำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 บริษัทยังคงมาตรการที่เข้มข้นอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เชื่อมั่นว่าจะไม่ได้รับผลกระทบที่มีนัยสำคัญกับสายการผลิต และมั่นใจว่าจะสามารถผ่านวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปได้อย่างแน่นอน