วันที่ 13 ม.ค. 2564 ร.ท.ธนเดช เพ็งสุข อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึงกรณีที่มีเอกสารราคาจัดซื้อจัดจ้างผลิตและติดตั้งโซลาร์เซลล์ อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ กว่า 45 ล้านบาท ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นเจ้าของโครงการว่า โครงการนี้เป็นประเด็นขึ้นเมื่อถูกนำงบประมาณไปเปรียบเทียบกับกรณีที่คุณพิมรี่พาย นำโซลาร์เซลล์ไปติดตั้งในหมู่บ้านบนเขาด้วยงบประมาณเพียง 500,000 บาท ซึ่งน้อยกว่ามาก ต่อมาจึงได้มีการยอมรับจาก โฆษก กอ.รมน. ว่า เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารฉบับจริง แต่โครงการขนาดโครงการต่างกันและเป็นการดำเนินการจำนวน 5 พื้นที่ของ อ.อมก๋อย ซึ่งข้อเท็จจริงหรือความโปร่งในโครงการนี้ ก็คงแล้วแต่ใครจะมองและไปติดตามตรวจสอบกันไป   ร.ท.ธนเดช กล่าวต่อว่า สิ่งที่อยากชวนให้ติดตามขบคิดกันต่อคือ กรณีนี้กำลังสะท้อนบทบาทและภารกิจของ กอ.รมน. ในรูปแบบใหม่ที่ไปไกลกว่าภารกิจด้านความมั่นคง ซึ่งภารกิจเหล่านี้ควรจะต้องเป็นบทบาทหน้าที่ของท้องถิ่นที่ต้องสนับสนุนให้เข้มแข็งด้วยการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ให้มีทั้งงบประมาณและอำนาจที่มีกฎหมายรองรับ ไม่ใช่จะทำอะไรก็ไปติดขัดส่วนกลางที่รวมศูนย์อำนาจไว้จนท้องถิ่นไม่สามารถพัฒนาและช่วยเหลือคนในพื้นที่ของตนเองได้ นอกจากนี้ ก็ควรไปแก้ไขเรื่องของสัญชาติและสิทธิที่ทำกินซึ่งเป็นปัญหาคาราคาซังทั้งในพื้นที่นี้และอีกหลายพื้นที่ด้วย ซึ่งประเด็นเหล่านี้มีรายละเอียดที่ต้องไปทำความเข้าใจกันต่อไปไม่ว่าเรื่องคนกับป่าและเรื่องปัญหาสัญชาติกับมุมมองด้านความมั่นคงของรัฐ “กอ.รมน. เดิมคือหน่วยงานที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อสู้กับคอมมิวนิสต์ แต่ปัจจุบันไม่มีภัยความมั่นคงในลักษณะนั้นแล้วก็ปลุกผีขึ้นมาใหม่เพื่อจัดการกับคนที่เห็นต่าง หลังการรัฐประหารปี 2549 รัฐบาลสุรยุทธ์ ผลักดันให้มี พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 กำหนดให้ กอ.รมน. มีสถานะเป็นส่วนราชการรูปแบบเฉพาะอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี หลังรัฐประหารปี 2557 พล.อ.ประยุทธ์ ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 51/2560 ให้บทบาทและอำนาจ กอ.รมน. ขยายไปอีก โดยให้ไปกำหนดเอาเองว่าสถานการณ์ใดที่เป็นภัยหรืออาจเป็นภัย และวางโครงสร้างให้ดูดีเหมือนองค์กรผสม พลเรือน ตำรวจ ทหาร โดยมีนายกรัฐมนตรี ซึ่งดูเหมือนเป็นพลเรือนเป็น ผอ.รมน. และให้มีผู้ว่าฯแต่ละจังหวัดนั่งเป็นหัวโต๊ะในระดับจังหวัด แต่ในทางปฏิบัติรู้กันดีว่าคนที่ใหญ่ที่สุดคือ แม่ทัพภาค”  ร.ท.ธนเดช กล่าวด้วยว่า ปัญหาสำคัญอยู่ที่นิยามความมั่นคงใหม่ ทำให้เกิดตีความงานความมั่นคงแบบครอบจักรวาล อย่างที่อาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข เรียกว่า เป็นซุปเปอร์กระทรวง ทำงานตั้งแต่สอดส่องนักกิจกรรม นักการเมือง กิจกรรมหาเสียง ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ปราบปรามยาเสพติด เป็นมือไม้ผลักดันโครงการของรัฐบาล คสช. เช่น โครงการประชารัฐ ไทยนิยมยั่งยืน หนักเข้าก็ไปจนถึงการกำจัดผักตบชวาในคูคลอง นั่นจึงไม่ต้องแปลกใจว่า อยู่ดีๆ ทำไม กอ.รมน.จึงเข้าไปทำโครงการ 45 ล้าน ติดไฟตามเขาตามดอยให้สว่างด้วย กงัทั้งที่เรื่องนี้ควรเป็นบทบาทหน้าที่ของท้องถิ่น ควรกระจายอำนาจเพื่อไปทำตรงนั้นให้เข้มแข็ง ไม่ใช่ทำให้ กอ.รมน.เข้มแข็ง เท่าที่ทราบ กอ.รมน.ได้งบประมาณปีละเป็นหมื่นล้านบาท มากกว่าสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) หลายเท่าตัว มีเจ้าพนักงานราว 6,000 คนทั่วประเทศ โดยไม่นับรวมส่วนสามจังหวัดชายแดนใต้ มีงานมวลชนและข้อมูลข่าวสารเป็นหมื่นคน จึงอยากให้จับตาบทบาท กอ.รมน. กันให้ดี หากปฏิรูปได้ก็ควรปฏิรูป เพราะต่อไปหน่วยนี้คงเติบโตขึ้นอีกมากทั้งในทางอำนาจและงบประมาณ และจะเป็นการเติบโตในทิศทางที่สวนกับพัฒนาการของประชาธิปไตย