เข้าทำนองที่ว่า เมื่อเผชิญหน้ากับ “ขาใหญ่” ก็ต้องใช้ “ขาเยอะ” คือ ใช้วิธีรวมตัวกันรุมสกรัมเพื่อปราบขาใหญ่กันอย่างไร อย่างนั้น โดยยุทธวิธีนี้ มีให้เห็น เป็นเหมือนกันหมด ทั้งในระดับชาวบ้าน รวมไปถึงนานาชาติ ระหว่างประเทศ อย่างในเหล่าประเทศที่กำลังประจันหน้ากับ “จีนแผ่นดินใหญ่” เจ้าของฉายา “พญามังกร” ซึ่งถูกยกให้ประเทศที่กำลังสยายกรงเล็บ คือ อิทธิพล ด้านต่างๆ ในภูมิภาคทั้งหลายแทบจะทั่วทุกมุมโลก ณ เวลานี้ ก็ใช้วิธีจับมือ จับไม้ ร่วมใจ กันรวมตัว สำหรับการเผชิญหน้ากับ จีนแผ่นดินใหญ่ แบบไม่ผิดอะไรกับการรุมกำราบพญามังกรกันให้อยู่หมัด ที่ผ่านมา ก็มีอยู่ด้วยการหลายกลุ่มประเทศ ภายใต้ชื่อ กรอบความร่วมมือต่างๆ อาทิเช่น “ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” หรือ “ทีพีพี” ที่หมายมั่นว่า จะปิดล้อมทางเศรษฐกิจต่อจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ก็มีอันต้องเซทรุดไปอย่างไม่เป็นท่า หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ที่ใกล้จะโบกมืออำลาตำแหน่งไป ไม่เอาด้วย อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า หลังการขึ้นเถลิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของ “โจ ไบเดน” โลกอาจได้เห็นความคืบหน้าของความตกลงทีพีพีนี้ หวนมาเป็นเครื่องมือปิดล้อมทางเศรษฐกิจต่อจีนแผ่นดินใหญ่อีกก็เป็นได้ ล่าสุด ก็เป็นความร่วมมือทางทหารในพื้นที่ที่กำหนดว่า เป็น “อินโด-แปซิฟิก” อันหมายถึงพื้นที่มหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ในกลุ่มความร่วมมือที่เบื้องต้นก็มี 4 ประเทศ หรือจตุภาคี หรืออีกนามสั้นๆ ว่า “คว็อด” กอปรด้วย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดีย ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า เพื่อปิดล้อมทางการทหารต่อจีน เฉกเช่นเดียวกันกลุ่มนาโตปิดล้อมสหภาพโซเวียตรัสเซีย เมื่อครั้งอดีตหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือที่เรียกว่า ในยุคสงครามเย็น โดยกลุ่มดังกล่าว ปรากฏว่า ณ ปัจจุบันก็ทำท่าว่า จะเกินคำว่า “จตุภาคี” ไปเสียแล้ว เพราะมีชาติมหาอำนาจตะวันตกอื่นๆ มาตบเท้าเข้าร่วมอีกหลายประเทศ ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงบรรดาประเทศมหาอำนาจตะวันตกเหล่านี้ ก็ต้องบอกว่า เริ่มสนใจที่จะเข้าร่วมวงไพบูลย์ ในพื้นที่ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เมื่อหลายปีก่อนแล้ว เรียกว่า อาจจะตั้งแต่แรกเริ่มแบบทันทีที่มีรายงานถึงการสถาปนากลุ่มความร่วมมือนี้กันเลยทีเดียว แต่ปรากฏว่า มีอันต้องระงับยับยั้งกันไปเสียก่อน เพราะเกิดโรคระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กำลังเขย่าโลก ณ ชั่วโมงนี้ มาเป็นอุปสรรคขัดขวาง ทว่า กลุ่มประเทศมหาอำนาจดังกล่าว มิอาจรอให้โรคระบาดสงบลงก่อนได้ โดยได้ประกาศถึงความร่วมมือทางการทหารในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกแห่งนี้ขึ้น ทันทีที่ก้าวล่วงสู่ศักราชใหม่ คือ 2021 (พ.ศ. 2564) คือ ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมานี้เอง เมื่อทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ประกาศถึงแผนการส่งเสริมการขยายอิทธิพลทางการทหารของพวกเขา ต่อชาติในเอเชีย ในการต่อต้านการผชิญหน้ากับอิทธิพลของจีน ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก แผนการข้างต้น ยังรวมถึงการแสดงออกถึงความสนับสนุนที่มีต่อสหรัฐฯ ที่ให้การส่งเสริมทางการทหารแก่ญี่ปุ่น และชาติพันธมิตรอื่นๆ ในภูมิภาคข้างต้นอีกต่างหากด้วย เบื้องต้นแห่งแผนการ ก็เป็นทาง “อังกฤษ” จะส่ง “กองเรือจู่โจม” หรือ “แคเรียร์ สไตรค์ กรุป” หรือ “ซีเอสจี (CSG : Carrier Strike Group)” พร้อมด้วย “เรือรบหลวงควีนเอลิซาเบธ (HMS Queen Elizabeth)” ซึ่งเป็นเรือรบบรรทุกเครื่องบินเข้ามาภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกแห่งนี้ แต่ยังไม่ประกาศวันเวลาที่แน่ชัด สำหรับการมาของกองเรือดังกล่าว แต่เป็นในปีนี้ค่อนข้างแน่ ตามมาด้วย “ฝรั่งเศส” ที่มิใช่เพียงส่งกองเรือ และฝูงบินรบ ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ มาเท่านั้น แต่ทว่า ยังมีแผนการที่จะฝึกซ้อมรบร่วมกับกองทัพสหรัฐฯ และกองทัพญี่ปุ่น อีกต่างหากด้วย โดยกองทัพฝรั่งเศส มีแผนที่จะฝึกซ้อมรบยกพลขึ้นบก แบบสะเทินน้ำ สะเทินบก กับกองทัพญี่ปุ่น และกองทัพสหรัฐฯ ในพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น ในช่วงเดือน พ.ค.นี้ เช่นเดียวกับ “เยอรมนี” ที่แผนการจะส่งกองเรือฟริเกต มาลาดตระเวนน่านน้ำของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกด้วยเช่นกัน โดยอย่างช้าก็เป็นปลายปีนี้ที่จะได้เห็น ทั้งนี้ ในปฏิบัติการที่จะมีขึ้นข้างต้น ก็มีหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรแต่ไม่มีการลงนามอย่างเป็นทางการส่งไปยังสหประชาชาติ หรือยูเอ็นว่า ทั้งการส่งกองเรือรบ และการฝึกซ้อมรบดังกล่าว ไม่ได้เพื่อเกะกะระรานชาติต่างๆ แต่ประการใด แต่มีความสำคัญยิ่ง สำหรับการทำให้ “ทะเลจีนใต้” มีอิสระเสรีภาพทางการเดินเรือให้อยู่ในระดับสูง ภายหลังจากน่านน้ำท้องทะเลจีนใต้ ถูกจีนแผ่นดินใหญ่ รุกขยายเข้าไปมีอิทธิพลเป็นประการต่างๆ อย่าง การสร้างเกาะเทียม สร้างปลูกสร้าง ตลอดจนที่มั่นทางการทหาร กองทัพ เป็นอาทิ อย่างไรก็ดี บรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า การแห่ตบเท้าเข้ามาของเหล่ามหาอำนาจตะวันตกในครั้งกระนี้ ก็มีเหตุปัจจัยทำให้บรรดาชาติเหล่านี้ ต้องเข้าร่วมวงรุมเผชิญหน้ากับพญามังกร นั่นคือ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยนอกเหนือจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่า พยายามทวงคืนบัลลังก์แชมป์ ที่กำลังจะเสียไปในภูมิภาคนี้จากจีนแผ่นดินใหญ่ให้หวนมาอีกครั้ง ในส่วนกรณีของเยอรมนี ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับการส่งเสริมเรื่องคุณค่าทางการค้าระหว่างประเทศเป็นวาระ จึงจำต้องเข้ามามีบทบาททางการทหารระหว่างประเทศด้วย เช่นเดียวกับทางฝรั่งเศส ที่หมุดหมายเช่นเดียวกัน รวมถึงอังกฤษ ที่มีแรงบันดาลใจเรื่องแผนยุทธศาสตร์ “อังกฤษสู่โลก” หรือ “โกลบอล บริเตน (Global Britain)” หลังมีเบร็กซิต พ้นสมาชิกภาพจากสหภาพยุโรปเป็นต้นมา จึงต้องเข้าถ่วงดุลอิทธิพลจีน หมายรุมกำราบกับพญามังกรกันด้วยประการฉะนี้