กรมศิลปากรซ่อมแซมปูนปั้นบริเวณปากพญานาคทางขึ้นอุโบสถวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน แล้วเสร็จ นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า จากกรณีที่ปูนปั้นบริเวณปากของพญานาค ที่อยู่บริเวณทางขึ้นอุโบสถทรงจตุรมุขด้านทิศตะวันออกของวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน เกิดการชำรุดและแตกหักพังลงมา เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2563 นั้น ได้สั่งการให้สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ดำเนินการบูรณะซ่อมแซมปูนปั้นบริเวณปากพญานาคที่ชำรุดเสียหาย และได้รับรายงานว่า ขณะนี้ดำเนินการแล้วเสร็จ กลับมาคงความสมบูรณ์สง่างามดังเดิมแล้ว อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ปีงบประมาณ 2564 กรมศิลปากรได้รับงบประมาณในการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดภูมินทร์ ซึ่งจากการสำรวจเมื่อปี 2563 พบว่ามีชั้นสี ชั้นรองพื้น และชั้นปูนฉาบชำรุดหลายตำแหน่ง ซึ่งยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายลุกลามมากยิ่งขึ้น จึงจัดทำแผนการอนุรักษ์อย่างเร่งด่วน โดยกลุ่มอนุรักษ์จิตรกรรมและประติมากรรม กองโบราณคดี พื้นที่ดำเนินการ 140 ตารางเมตร เฉพาะพื้นที่ที่มีความชำรุดสาหัส บริเวณห้องภาพระหว่างหน้าต่างและประตู ความสูง 4 เมตร จากระดับพื้นภายในพระอุโบสถ รวมถึงภาพปู่ม่านย่าม่าน ซึ่งอยู่ข้างประตูของมุขทิศตะวันตกที่มีนักท่องเที่ยวเข้าแวะชมกันเป็นจำนวนมาก โดยการดำเนินงานทั้งหมดจะอยู่ภายใต้หลักการดูแลรักษาเพื่อคงคุณค่าความเป็นของแท้ดั้งเดิมไว้ ทั้งคุณค่าด้านศิลปกรรม ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ตลอดจนภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาวัฒนธรรม กำหนดเริ่มดำเนินการในเดือนกุมภาพันธ์ และคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2564 สำหรับปูนปั้นพญานาค วัดภูมินทร์ มีอายุเก่าแก่ 400 กว่าปี สันนิษฐานว่าสร้างใน พ.ศ. 2139 โดยพระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ มีสถาปัตยกรรมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ตัวนาค หรือพญานาคขนาดใหญ่แห่แหน พระอุโบสถเทินไว้กลางลำตัว เปรียบเสมือนบูชาพระพุทธเจ้า ตามปกติวัดทั่วไป นาคราวบันไดโบสถ์วิหารจะมีเฉพาะส่วนหัวเลื้อยโผล่ออกมา แต่พญานาคคู่ ที่วัดภูมินทร์ ช่างโบราณสร้างให้มีทั้งส่วนหัวและส่วนหาง เหมือนเลื้อยทะลุออกมาจากวิหาร ลักษณะพิเศษของพญานาคทั้งคู่ ส่วนหน้าและส่วนหลังจะมีช่องไว้ให้เดินลอด มีความเชื่อว่าผู้ใดได้ลอดท้องพญานาคแล้วจะได้กลับมาเยือนจังหวัดน่านอีก บ้างก็ว่าใครได้ลอดท้องพญานาคก็จะประสบพบเนื้อคู่ หรือได้ลอดตัวพญานาค ทั้ง 4 ช่องแล้ว จะเป็นทางรอดไปสู่หนทางหลุดพ้น วัดภูมินทร์ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน เมื่อ พ.ศ. 2410 ใช้เวลาบูรณะรวม 7 ปี สันนิษฐานว่าการบูรณะครั้งนั้นได้ทรงมีรับสั่งให้วาดภาพจิตรกรรมฝาผนัง ภายในพระอุโบสถจตุรมุข ซึ่งรวมถึงภาพปู่ม่านย่าม่าน ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดน่าน