กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด และอยู่ในระหว่างการจัดทำมาตรการเยียวยา เพื่อที่จะให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระลอกใหม่นี้อย่างเหมาะสม รัฐบาลได้ให้ความสำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจ และด้านสาธารณสุข จึงอยากให้ประชาชนมั่นใจว่าประเทศมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งในปัจจุบัน โดยรัฐบาลได้มีนโยบายทางการเงิน และทางการคลังที่พร้อมจะดูแล และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้กระทรวงการคลังมีการชี้แจงเพิ่มเติมมาในเรื่องของจำนวนเงินที่ทางภาครัฐมีแหล่งเงิน ทั้งส่วนของเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และรายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทาแก้ปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 โดยขณะนี้มีเงินคงเหลือ 1.39 แสนล้านบาท และมีเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ในส่วนที่เหลืออีกจำนวน 4.7 แสนล้านบาท และยังมีงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในประจำปีงบประมาณ 2564 จำนวนอีก 2.9 แสนล้านบาท ที่จะดูแลขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไป ขณะที่สำนักงบประมาณได้จัดเตรียมงบประมาณที่เกี่ยวข้องไว้ทั้งหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณปี 2564 หรือในเรื่องของการที่จะกันเงินสำรองสำหรับงบประมาณฉุกเฉินรองรับวิกฤติต่างๆในยามจำเป็น รวมถึงหากมีปัญหารุนแรงมากกว่าเดิมก็ยังมีเงินที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ ทั้งนี้รัฐบาลยืนยันว่า มีงบประมาณในการที่จะเยียวยาประชาชนอย่างเพียงพอ สำหรับมาตรการเยียวยาโควิด รอบ 2 หรือเงินเยียวยาที่รัฐบาลเคยออกมาตรการมาตั้งแต่ครั้งโควิดระบาดรอบแรก ไม่ว่าจะเป็นเราไม่ทิ้งกัน หรือเยียวยาเกษตรกรก็เป็นอีกประเด็นที่ประชาชนต้องการความชัดเจนจากภาครัฐถึงความช่วยเหลือในส่วนนี้นั้นจะมีการดำเนินการอย่างไร ตลอดจนการดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างคนละครึ่งรอบใหม่นี้ ความคืบหน้าล่าสุดของ 3 มาตรการสำคัญประกอบด้วย 1.เราไม่ทิ้งกัน มาตรการเราไม่ทิ้งกัน ถือเป็นมาตรการแรกๆที่ผู้คนถามถึงเมื่อได้ยินข่าวจากรัฐบาลจะเริ่มออกมาตรการเยียวยา หรือเงินเยียวยารอบ 2 โดยข่าวลือเรื่องของกระทรวงการคลังจะมีมาตรการแจกเงินเยียวยา4,000บาทก็แพร่สะพัดในทันที ทำให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังหรือ สศค.ต้องออกมาชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง ทั้งนี้กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ได้มีการประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และผลกระทบอย่างใกล้ชิดเพื่อพิจารณามาตรการเยียวยาโควิดให้เหมาะสมกับผู้ที่ได้รับผลกระทบในการระบาดครั้งที่ 2 หมายความว่า มาตรการ เราไม่ทิ้งกัน รอบ 2 หรือมาตรการช่วยเหลือเงินเยียวยาให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 นั้น จะมีความชัดเจนไม่เกินวันที่ 15 ม.ค.64เบื้องต้นประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบรายละเอียดของมาตรการครั้งที่แล้วได้ที่www.เราไม่ทิ้งกัน.com 2.เยียวยาเกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความเคลื่อนไหวล่าสุดต่อ มาตรการเยียวยาเกษตรกร รอบ 2 นั้น สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)ในฐานะนายทะเบียน ดำเนินการตรวจสอบรายชื่อเกษตรกรที่เคยขึ้นทะเบียนในการจ่ายเงินเยียวยาเมื่อปีที่แล้วเกือบ 8 ล้านราย นอกจากนี้ยังมีนโยบายให้เกษตรกรรายใหม่และที่ตกหล่นสามารถลงทะเบียนได้ครบถ้วนอีกด้วย สำหรับขั้นตอนการดำเนินการเยียวยาเกษตรกรในกรอบการดำเนินการเยียวยาโควิด รอบ 2 นั้น คาดว่าจะอิงกับหลักปฏิบัติเดียวกับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบในปี 2563 ด้วยการจ่ายเงินเยียวยาให้รายละ 15,000 บาท โดยโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม โดยขั้นตอนการดำเนินการจะเริ่มจาก การเปิดให้เกษตรกรรายใหม่หรือตกหล่นดำเนินการขึ้นทะเบียนผ่านช่องทางที่กำหนด ทาง สศก.ในฐานะนายทะเบียนจัดส่งรายชื่อเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนและได้ตรวจสอบแล้วให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส.โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรประกอบไปด้วย เกษตรกรกลุ่มพืช กลุ่มปศุสัตว์ กลุ่มประมง กลุ่มหม่อนไหม กลุ่มชาวไร่อ้อย และกลุ่มชาวไร่ยาสูบ สำหรับ 2 กลุ่มหลังขึ้นทะเบียนกับกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงการคลังตามลำดับโดยส่งทะเบียนเกษตรกรผ่าน สศก.ก่อนส่งให้ ธกส.โอนตรงให้เกษตรกร การดำเนินมาตรการครั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ จัดตั้งศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ ที่เก็บฐานข้อมูลเกษตรกรจากการดำเนินการเยียวยาเกษตรกรเมื่องกลางปีที่แล้ว คาดว่าจะสามารถส่งฐานข้อมูลเกษตรกรที่มีอยู่ให้ ธกส. เร่งดำเนินการเรื่องเงินเยียวยา เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ครั้งใหม่นี้ได้ภายใน 5 วัน สำหรับเกษตรกรสามารถตรวจสอบการขึ้นทะเบียนเกษตรกรของตนเองได้ที่ http://farmer.doae.go.th/ 3.คนละครึ่งรอบเก็บตก มาตราการนี้ ไม่ได้เป็นการเยียวยาโควิด หรือการให้เงินเยียวยาโดยตรง แต่เป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ประชาชนต่างให้เสียงตอบรับเป็นอย่างดี โดยความคืบหน้าล่าสุด โครงการคนละครึ่ง ที่มีการขยายมาเป็นคนละครึ่ง เฟส 2 ซึ่งนอกจากจะเพิ่มจำนวนผู้รับสิทธิ์อีก 5 ล้านคนแล้วยังเพิ่มวงเงินจากเดิม 3,000 บาท เป็น 3,500 บาท และเปิดให้ลงทะเบียนไปเมื่อกลางเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเต็มไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้หากนับจากวันที่ 1 ม.ค.64 ที่เป็นวันแรกของการเปิดให้ใช้จ่ายผ่าน คนละครึ่งเฟส 2 นั้นจนถึงตอนนี้ พบว่า มีผู้ที่ลงทะเบียนเฟส 2 ไปแล้วแต่ยังไม่ใช้สิทธิราว 1.6 ล้านคน ซึ่งหากไม่ใช้สิทธิครั้งแรกภายในวันที่ 14 ม.ค.64 จะถูกระงับสิทธิทันที และไม่สามารถลงทะเบียนซ้ำได้อีก จากนั้นทางมาตรการจะมีการสรุปยอดสิทธิคงเหลือ ไม่ว่าจะเป็นจากผู้ไม่เกณฑ์คุณสมบัติ และผู้ที่ไม่มาใช้สิทธิ์ภายในเวลาที่กำหนด โดยจะนำสิทธิเหล่านั้นมารวมกับอีก 5 แสนสิทธิคงเหลือจากมาตรการคนละครึ่งรอบแรก และเปิดให้ประชาชนรายใหม่ได้ลงทะเบียนกันอีกครั้ง เพื่อรับเงิน 3,500 บาท สำหรับใช้จ่ายแบบผู้ใช้ออกครึ่งหนึ่ง-รัฐออกให้อีกครึ่งหนึ่ง ในวงเงินไม่เกินวันละ 150 บาท โดยในวันที่ 14 ม.ค.64 จะสามารถสรุปจำนวนสิทธิคงเหลือที่จะนำมาเปิดให้ลงทะเบียน คนละครึ่งเฟส 2 ใหม่ในรอบเก็บตกได้ และคาดว่า อย่างเร็วที่สุดอาจเปิดให้ลงทะเบียนได้ในวันที่ 15 ม.ค.64 นี่คือ 3 มาตรการเยียวยาโควิดรอบ 2 ของรัฐบาลในเบื้องต้น และจะมีแผนเยียวยาอีกออกมาอย่าต่อเนื่องเพื่อฝ่าวิกฤติโควิดครั้งนี้