ไม่เพียงต้องเผชิญสถานการณ์โควิด-19โรคอุบัติใหม่ที่แพร่ระบาดทำร้ายผู้คน ทำลายเศรษฐกิจไปทั่วโลก เช่นเดียวกับทุกคน แต่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูยังต้องเผชิญศึกอีกด้าน กับตั้งการ์ดป้องกันโรค ASF หรือ แอฟริกัน สไวน์ฟีเวอร์ ที่สร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมหมูใน 34 ประเทศทั่วโลกอย่างหนักด้วย การป้องกัน ASF ในสุกรมาตลอดเวลากว่า 2 ปี หมายถึงการที่เกษตรกรคนเลี้ยงหมูต้องลงทุนด้านความปลอดภัย โดยดำเนินมาตรการป้องกันโรคอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันฝูงสัตว์เต็มอัตราศึก จนทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศเดียวที่ปลอด ASF และเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นตลอดปี 2563 กระทั่งมีการระบาดรอบใหม่ในช่วงนี้ ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรต้องยกระดับการป้องกันโรคโควิดในบุคลากรที่ทำงานภายในฟาร์ม เพื่อไม่ให้เกิดการกระทบกับแรงงานในการเลี้ยงสุกรอย่างเด็ดขาด ส่งผลให้ทุกฟาร์มมีภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากเดิมถึงกว่า 300 บาทต่อตัว หลายปัจจัยป่วนต้นทุน ต้นทุนที่สูงขึ้นจากการป้องกันโรคให้ทั้งคนและสัตว์ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความยากลำบาก เพราะคนเลี้ยงหมูยังมีต้นทุนการผลิตที่สำคัญอีกตัวหนึ่ง นั่นก็คือ ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งกำลังเพิ่มขึ้นจากความกังวลต่อปริมาณ สต๊อกถั่วเหลืองในประเทศสหรัฐอเมริกาที่กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) คาดการณ์ว่าอาจจะลดต่ำลงเหลือเพียง 175 ล้านบุชเชล ซ้ำเติมด้วยแนวโน้มการเพาะปลูกถั่วเหลืองของอาร์เจนตินา ที่ต้องได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ซึ่งจะส่งผลต่อราคาเมล็ดถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองนำเข้า ที่จะเพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบ 5 ปี และมีทิศทางราคาที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ส่วนมาตรการประกันรายได้เกษตรกรของภาครัฐเพื่อพยุงราคาพืชผลเกษตรที่ได้รับความเสียหายจากภาวะอากาศแล้งและภัยพิบัติในช่วงปีที่ผ่านมา ก็ส่งผลให้วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ผลิตได้ในประเทศ อย่างข้าวโพด มันสำปะหลัง รำ-ปลายข้าว มีราคาขยับสูงขึ้นเช่นกัน ซ้ำเติมต้นทุนคนเลี้ยงหมูอีกทางหนึ่ง ไม่เพียงเท่านั้น การเลี้ยงสุกรในปัจจุบันยังต้องปรับตัวเข้าสู่มาตรฐานของกรมปศุสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นฟาร์มเลี้ยงสุกรขนาดใหญ่ที่ต้องทำตามมาตรฐาน GMP อย่างเคร่งครัด และฟาร์มขนาดเล็กที่ต้องมีระบบป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) ควบคู่ไปกับการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่กำหนดให้การเลี้ยงสุกรต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยสู่คลองสาธารณะ วอนเข้าใจ “คนเลี้ยงหมู” ปัจจัยทั้งหมดส่งผลต่อภาพรวมต้นทุนการเลี้ยงสุกรที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมหาศาล ตามข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พบว่า ปัจจุบันต้นทุนการเลี้ยงสุกรเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 75 บาท ขณะที่ราคาขายสุกรหน้าฟาร์มเกษตรกรตามประกาศของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรอยู่ที่ 76-80 บาทต่อกิโลกรัม และต้องจับตาประกาศต้นทุนการเลี้ยงสุกรของ สศก. ในไตรมาสที่ 1/2564 ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปถึง 78 บาทต่อกิโลกรัมจากหลายปัจจัยดังกล่าวมาแล้วข้างต้น อย่างไรก็ตาม แม้ปัญหาหลายอย่างจะรุมเร้า โดยเฉพาะภาระหนักเรื่องต้นทุนที่สูงขึ้นทุกขณะ แต่เกษตรกรก็ยังคงให้ความร่วมมือกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ในการจำหน่ายสุกรหน้าฟาร์มไม่เกิน 80 บาทต่อกิโลกรัม และหมูไทยก็ยังคง "ราคาถูกที่สุดในภูมิภาคเอเชีย" เมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่ได้รับผลกระทบจาก ASF ที่ทำให้ราคาสุกรมีชีวิตสูงขึ้นกว่า 2 เท่าตัว เช่น ประเทศจีนที่ราคาสูงถึง 160 บาทต่อกิโลกรัม กัมพูชาราคา 95 ต่อกิโลกรัม เวียดนามราคา 90 บาทต่อกิโลกรัม และลาวราคา 85 บาทต่อกิโลกรัม ประชาชนในประเทศเหล่านี้ต้องบริโภคเนื้อหมูที่มีราคาสูง ซึ่งเป็นไปตามหลักอุปสงค์อุปทาน ระดับราคาขายที่เกษตรกรไทยได้รับ ดูจะไม่เหมาะสมกับ รางวัลป้องกัน ASF ที่สมควรได้ ทั้งๆที่สุกรถือเป็นสินค้าปศุสัตว์ชนิดเดียวในยามวิกฤตนี้ที่จะสามารถนำเงินตราเข้ามาฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ จากความต้องการหมูไทยของนานาชาติรอบบ้านเรา แต่เหนืออื่นใดคือ “ความเข้าใจจากผู้บริโภค” ที่จะปล่อยให้กลไกตลาดทำงานตามอุปสงค์-อุปทานที่เกิดขึ้นจริง อาจจะพอเป็นกำลังใจให้คนเลี้ยงหมูมีแรงเดินหน้าต่อได้ในสถานการณ์หมิ่นเหม่เช่นนี้ โดย : สมคิด เรืองณรงค์