รายงาน: องคมนตรี เชิญถุงพระราชทานไปมอบแก่ราษฎรและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน พร้อมติดตามการดำเนินงานโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ในพื้นที่จังหวัดพะเยา วันที่ 6 มกราคม 2564 นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมคณะอนุกรรมการฯ เชิญถุงพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปมอบให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานหน่วยความมั่นคง ณ กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 326 ตำบลเชียงบาน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ได้แก่ ฐานปฏิบัติการตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแจมป๋อง ตำบลหล่ายงาว อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 326 ฐานปฏิบัติการตำรวจตระเวนชายแดนบ้านห้วยลึก ตำบลม่วงยาย อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 326 ฐานปฏิบัติการตำรวจตระเวนชายแดนบ้านผาแดงล่าง ตำบลร่มเย็น อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 326 และกองร้อยทหารพรานที่ 3305 บ้านหัวนา ตำบลทุ่งกล้วย อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา รวมทั้งสิ้น 90 ถุง เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ป้องกันชายแดน รักษาความสงบเรียบร้อย สร้างความปลอดภัยและความผาสุกให้แก่ประชาชนและประเทศชาติ จากนั้น องคมนตรีและคณะ เชิญถุงพระราชทาน จำนวน 404 ถุง ไปมอบแก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมเสื้อกันหนาวไปมอบแก่เด็ก เพื่อบรรเทาความหนาวในพื้นที่จำนวน 4 โครงการ ได้แก่ โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านสันติสุข-บ้านขุนกำลัง อำเภอปง จังหวัดพะเยา โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริ บ้านหนองห้า อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านธารทอง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ดอยยาว ดอยผาหม่น ดอยผาจิ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย สร้างความปลาบปลื้มใจในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงห่วงใยความเป็นอยู่ของราษฎรและผู้ปฏิบัติงานครั้งนี้ จากนั้น องคมนตรีและคณะได้ติดตามการดำเนินงานโดยรับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานและผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริของโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านสันติสุข-บ้านขุนกำลัง ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศต้นน้ำให้สมบูรณ์ โดยจัดตั้งเป็นสถานที่เรียนรู้และรับจ้างงานของชุมชน ในขณะเดียวกันก็ให้ราษฎรได้ฝึกเรื่องของการเกษตรแผนใหม่ ควบคู่กับการให้ความรู้เรื่องของการอนุรักษ์ดินและน้ำเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศต้นน้ำให้สมบูรณ์ จากการดำเนินงานส่งผลให้สามารถฟื้นฟูป่า จำนวน 11,961 ไร่ ให้มีความสมบูรณ์ ราษฎรมีแหล่งน้ำใช้อุปโภค บริโภค และทำการเกษตรตลอดปี นอกจากนี้ ยังมีทักษะในการทำการเกษตรมากขึ้น โดยเฉพาะการปลูกพืชที่มีราคาแพง และหันมาทำนาดำที่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น แทนการปลูกข้าวโพด ปลูกข้าวแบบเดิม ดังเช่น บ้านสันติสุข ที่มีพื้นที่ทำนาเพิ่มขึ้นจาก 90 ไร่ เป็น 670 ไร่ บ้านขุนกำลังเพิ่มขึ้นเป็น 220 ไร่ ทั้งยังส่งเสริมให้ทำอาชีพเสริมหลังการทำนา เช่น การทำเครื่องเงิน การผ้าปักชนเผ่าม้ง การผลิตชาเจียวกู่หลัน เป็นต้น ส่งผลให้ราษฎรทั้งสองหมู่บ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีรายได้เพียง 15,000 ไร่ ต่อครัวเรือนต่อปี ปัจจุบันราษฎรบ้านสันติสุขมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 250,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี บ้านขุนกำลังเพิ่มขึ้นกว่า 290,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สำหรับแนวทางในการดำเนินงานในระยะต่อไปของโครงการฯ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชปณิธาน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการฯ จึงได้กำหนดแผนงานโดยการสร้างแหล่งเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรเพื่อให้ราษฎรมีความรู้ตลอดจนปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรให้เกิดความยั่งยืนส่งเสริมให้มีการปลูกผลไม้ยืนต้น เช่น อโวคาโด้ โกโก้ ทุเรียน ลองกอง เงาะ เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ราษฎร รวมทั้งพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ขยายพื้นที่การดำเนินงานโครงการไปสู่ชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อเป็นการต่อยอดและสร้างโอกาสให้แก่ราษฎรในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น โอกาสนี้ องคมนตรีและคณะได้พบปะพูดคุยและเยี่ยมชมผลผลิตและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของราษฎรที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากโครงการฯ