พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2562 มีวัตถุประสงค์ให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ร่วมบูรณาการการทำงานเพื่อให้ขับเคลื่อนภารกิจด้านน้ำ ทั้งในด้านการใช้น้ำ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา และการฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำไปในทิศทางเดียว ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมในทุกมิติ มีความสมดุลและยั่งยืน รวมทั้งสะท้อนกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง แต่การที่จะขับเคลื่อนพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ได้นั้น จำเป็นจะต้องมีกฎหมายลำดับรอง หรือกฎหมายลูกรองรับด้วย ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า กฎหมายลำดับรองหรือกฎหมายลูกดังกล่าว จะช่วยสร้างกลไกการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน แก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ สทนช. ก็จะเร่งขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับลุ่มน้ำให้สามารถจัดสรรน้ำได้อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และเป็นธรรม โดยในส่วนที่ สทนช. ดำเนินการจัดทำและยกร่างกฎหมายลำดับรอง (เฉพาะมาตราเร่งด่วน) ภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 นั้น ขณะนี้ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำ พ.ศ. .... ได้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. แล้ว อยู่ระหว่างทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ซึ่งกฎหมายลำดับรองฉบับนี้เป็นการแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำของประเทศไทยใหม่ ให้เหมาะสมสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและวิถีชีวิตของประชาชน จาก 25 ลุ่มน้ำหลัก และ 254 ลุ่มน้ำสาขาเดิม เป็น 22 ลุ่มน้ำหลัก และ 353 ลุ่มน้ำสาขา นอกจากนี้ ร่างกฎกระทรวงองค์กรผู้ใช้น้ำ พ.ศ. .... เป็นกฎหมายลำดับรองอีกฉบับ ได้ผ่านกระบวนการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา ภายในปลายเดือนมกราคม 2564 ถือว่าเป็นกฎหมายลำดับรองอีกฉบับที่มีความสำคัญ กฎกระทรวงองค์กรผู้ใช้น้ำ จะมีความสัมพันธ์กับพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่ม พ.ศ. .... ที่อยู่ระหว่างทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้กฎกระทรวงดังกล่าว จัดทำขึ้นตามหมวดที่ 3 ว่าด้วยองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ที่ระบุไว้ว่า องค์กรในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ มี 3 ระดับ 1.ระดับชาติ ได้แก่ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ กนช. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน 2.ระดับลุ่มน้ำ ได้แก่ คณะกรรมการลุ่มน้ำ ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตลุ่มน้ำที่ได้รับเลือกเป็นประธาน และ 3.ระดับองค์กรผู้ใช้น้ำ ที่เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล ที่ใช้น้ำในบริเวณใกล้เคียงกันและอยู่ในเขตลุ่มน้ำเดียวกัน รวมตัวกัน จดทะเบียนก่อตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำเพื่อประโยชน์ร่วมกันเกี่ยวกับการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ในหมู่สมาชิกขององค์กรผู้ใช้น้ำ ซึ่งนอกจากองค์กรผู้ใช้น้ำจะมีบทบาทในการบริหารทรัพยากรน้ำในหมู่สมาชิกของตนแล้ว สมาชิกองค์กรผู้ใช้น้ำ องค์กรละ 1 คน สามารถเข้ารับการคัดเลือกเป็นกรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำในเขตลุ่มน้ำของตนได้ ซึ่งลุ่มน้ำหนึ่ง ๆ มีจำนวน 9 คน จากภาคเกษตรกรรม 3 คน ภาคอุตสาหกรรม 3 คน และภาคพาณิชยกรรม 3 คน โดยกรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำเหล่านั้น ยังมีสิทธิได้รับการคัดเลือกไปเป็นกรรมการผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำในคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช. )ได้อีกด้วย ทั้งประเทศมีจำนวน 4 คน “องค์กรผู้ใช้น้ำจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยบริหารจัดการน้ำ กล่าวคือ องค์กรผู้ใช้น้ำจะเป็นช่องทางให้ผู้ใช้น้ำที่มีเป้าประสงค์ร่วมกันจากลุ่มน้ำเดียวกัน บริเวณเดียวกัน รวมตัวกันเพื่อเกิดให้การบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับความต้องการ สถานการณ์และปัญหาในพื้นที่ รวมทั้งตอบสนองต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยใช้กลุ่มเครือข่ายและองค์กรต่างๆ เป็นกลไกในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับพื้นที่ โดยสามารถนำเสนอโครงการต่างๆ อันเป็นประโยชน์ต่อชุมชนสู่คณะกรรมการลุ่มน้ำและคณะกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดได้โดยตรง หรือกระทั่งสิทธิในการร่วมกันหารือ แลกเปลี่ยนข้อมูล ไกล่เกลี่ย แก้ปัญหาร่วมกัน กรณีเกิดข้อพิพาทระหว่างผู้ใช้น้ำด้วยกันในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมถึงเป็นตัวแทนองค์กรผู้ใช้น้ำที่มาจากคณะกรรมการลุ่มน้ำยังสามารถแสดงความคิดเห็นในคณะกรรมการระดับชาติ คือ กนช. ได้อีกด้วย องค์กรผู้ใช้น้ำจึงจัดเป็นฟันเฟืองสำคัญในการมีส่วนช่วยในการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศครอบคลุมทุกมิติมากยิ่งขึ้น”เลขาธิการ สทนช. กล่าว ปัจจุบันแม้หน่วยงานด้านน้ำหลายหน่วยงานมีการจัดตั้งองค์กรหรือกลุ่มผู้ใช้น้ำขึ้นมาบ้างแล้ว เช่น กลุ่มผู้ใช้น้ำของกรมชลประทาน ที่มีอยู่กระจายอยู่ในพื้นที่โครงการชลประทานทั่วประเทศ แต่ยังไม่ได้อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 และยังมีไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ ดังนั้นภายหลังจากที่กฎกระทรวงองค์กรผู้ใช้น้ำ มีผลบังคับใช้แล้ว องค์กรหรือกลุ่มผู้ใช้น้ำของหน่วยงานที่มีอยู่เดิมตามภารกิจ ต้องมายื่นขอก่อตั้งเป็นองค์กรผู้ใช้น้ำตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบ การจดทะเบียนเพื่อขอก่อตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำ ตามพรบ.ทรัพยากรน้ำ ปี 2561 กลุ่มบุคคลหรือนิติบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่รวมตัวกัน ต้องตั้งตัวแทนไปยื่นคำขอจดทะเบียนก่อตั้งองค์ผู้ใช้น้ำต่อนายทะเบียน (นายทะเบียนคือเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือผู้ที่เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติมอบหมาย) สามารถยื่นสมัครทางออนไลน์ได้ที่ website : twuo.onwr.go.th ซึ่งเป็นช่องทางที่สะดวก รวดเร็ว ลดการใช้กระดาษ และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง สอดคล้องกับการบริหารราชการแบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า e-government ในช่วงเวลาการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเพิ่มเติม สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้กำหนดสถานที่ยื่นคำขอจดลงทะเบียนเพื่อก่อตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำไว้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยเปิดจุดลงทะเบียนออนไลน์ในส่วนกลางสามารถยื่นได้ที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ อาคารจุฑามาศ แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ส่วนภูมิภาคสามารถยื่นได้ที่สำนักงานของ สทนช. ภาค 1-4 ที่จังหวัดลำปาง จังหวัดสระบุรี จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งนายทะเบียนจะใช้เวลาตรวจสอบเอกสารข้อมูลประมาณ 30 วัน หากเอกสารประกอบคำขอจดทะเบียนถูกต้องครบถ้วนก็จะออกหนังสือสำคัญการจดทะเบียนองค์กรผู้ใช้น้ำเพื่อเป็นเอกสารรับรองว่าเป็นองค์กรผู้ใช้น้ำตาม พรบ.ทรัพยากรน้ำต่อไป รายละเอียดอื่นๆ ในการรับสมัคร สทนช. จะได้แจ้งให้ทราบในนโอกาสต่อไป สำหรับกฎหมายลำดับรองฉบับอื่นๆ ภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ที่ สทนช. รับผิดชอบที่เป็นมาตราเร่งด่วนมีจำนวน 18 มาตรา รวม 23 ฉบับ ขณะนี้ได้ยกร่างผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองกฎหมายด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติแล้ว ซึ่ง สทนช. ได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีการตรวจพิจารณาร่างกฎหมายลำดับรองให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ นอกจากกฎหมายลำดับรองที่ สทนช. รับผิดชอบแล้ว ยังมีกฎหมายลำดับรอง ภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 อีกจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นหน้าที่และอำนาจของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการเช่นกัน และหากกฎหมายรองทุกฉบับมีผลบังคับใช้แล้ว การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศก็จะถูกขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ถูกต้อง เหมาะสม ไม่ซ้ำซ้อนและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสะท้อนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนตรงตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 อย่างแท้จริง