เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 60 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (Lower Mekong Initiative – LMI) ครั้งที่ 10ที่ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ร่วมกับนายซก สิพานา ที่ปรึกษาคณะรัฐมนตรีกัมพูชา นายซะเหลิมไซ กมมาสิด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาว นาย ยาว ติน รัฐมนตรีแห่งรัฐเมียนมา นายฟาม บิญ มิญ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม และนายเล เลือง มิญ เลขาธิการอาเซียน โดยมีนายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เป็นประธาน ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับรองข้อเสนอโครงการ Mekong Water Data Initiative ซึ่งเป็นข้อริเริ่มของสหรัฐฯ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโครงการสำหรับการรวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำในแม่น้ำโขงทั้งจากแหล่งข้อมูลภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาความสามารถของอนุภูมิภาคในการตัดสินใจด้านการพัฒนาและจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ในโอกาสเดียวกัน ที่ประชุมฯ ได้รับรองถ้อยแถลงร่วมการประชุมรัฐมนตรี LMI ครั้งที่ 10 ซึ่งยืนยันความมุ่งมั่นต่อการพัฒนาและการรวมตัวกันในระดับภูมิภาคของประเทศสมาชิก LMI การเร่งการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ LMI ค.ศ. 2016 - 2020 (Master Plan of Action to Implement the Lower Mekong Initiative 2016 – 2020) การดำเนินการโครงการหุ้นส่วนเพื่อโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน (Sustainable Infrastructure Partnership) รวมทั้งยืนยันเจตนารมณ์ที่จะร่วมมือกับมิตรประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (Friends of the Lower Mekong) และคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนและครอบคลุมในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เน้นย้ำบทบาทของไทยในการเป็นประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงร่วมกับสหรัฐฯ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนา และส่งเสริมการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน นอกจากนี้ ไทยในฐานะประเทศนำสาขาการศึกษา ได้ชูบทบาทสำคัญในการพัฒนาการศึกษาประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ผ่านโครงการร่วมกับสหรัฐฯ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาและวิทยาศาสตร์ ได้แก่ โครงการ LMI University Network และ Young Scientist Program สำหรับ ข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่างเป็นข้อเสนอของสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งเมื่อปี 2552 โดยสหรัฐฯ มีวัตถุประสงค์กลับมามีบทบาทในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (strategic rebalancing) ตามนโยบาย re-engagement กับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยมุ่งมั่นส่งเสริมสันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง ผ่านการพัฒนาที่ยั่งยืนของอนุภูมิภาค