สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอยู่ในขณะนี้ กรมชลประทาน ได้ปรับแนวทางในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้สอดคล้องกับมาตรการของ ศบค. อย่างเคร่งครัด โดยไม่ให้กระทบต่อภารกิจหลักในการบริหารจัดการน้ำและการดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง เมื่อวันที่ 6 ม.ค. นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบในหลายจังหวัดอยู่ในขณะนี้ รัฐบาลโดยศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ได้กำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุมเข้มการระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้ได้มากที่สุด ในส่วนของกรมชลประทาน ได้ปฏิบัติตามแนวทางของ ศบค.อย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด โดยไม่กระทบต่อภารกิจหลักของกรมชลประทาน ที่จะต้องบริหารจัดการน้ำตามแผนการจัดสรรน้ำที่ได้วางไว้ในแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ชลประทานทุกระดับ ปรับการทำงานในพื้นที่ให้ตอบโจทย์การบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้สถานการณ์ COVID-19 อาทิ จากเดิมจะต้องมีการประชุมกลุ่มผู้ใช้น้ำ เพื่อทำความเข้าใจกับเกษตรกรก่อนการส่งน้ำในฤดูนาปรัง เปลี่ยนไปใช้การประชุมผ่านระบบ VDO Conference แทน รวมไปถึงการแจ้งประกาศ/ประชาสัมพันธ์ การตรวจติดตามการส่งน้ำไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ได้กำหนดให้เกษตรกรส่งข้อมูล ภาพถ่าย และปัญหาที่เกิดระหว่างการส่งน้ำ ผ่านการใช้โซเซียลมีเดีย เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของไวรัส COVIC-19 ในระหว่างการทำงาน เป็นต้น ด้านนายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 กล่าวว่า กรมชลประทาน ได้เริ่มส่งน้ำเพื่อการปลูกพืชฤดูแล้งปี 2563/64 ที่ใช้น้ำต้นทุนจากเขื่อนอุบลรัตน์ ส่งน้ำผ่านฝายหนองหวายกระจายเข้าสู่ระบบชลประทาน ส่งให้เกษตรกรในพื้นที่ 2 จังหวัด 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอน้ำพอง อำเภอซำสูง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น และอำเภอเชียงยืน อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ได้ทำนาปรัง ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ปัจจุบันเกษตรกรได้ทดน้ำเข้าแปลงนาและเริ่มไถเตรียมแปลงหว่านข้าวเกือบเต็มพื้นที่กว่า 260,000 ไร่แล้ว ขณะเดียวกันที่เขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ ก็ได้เริ่มส่งน้ำให้พี่น้องเกษตรกรได้ทำนาปรัง ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2564 ด้วยเช่นกัน โดยได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามแนวทางของ ศบค. อย่างเคร่งครัด กรมชลประทาน ได้กำชับให้ทุกโครงการชลประทานปฏิบัติตามมาตรการ Social Distancing,Border และ Paperless หรือ SOBOP ของกรมชลประทาน โดยก่อนเข้าพื้นที่ปฏิบัติงาน เจ้าหน้าที่ทุกคนจะต้องตรวจคัดกรองวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนทุกครั้ง พร้อมกับสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือด้วยเจลล้างมือที่แต่ละหน่วยงานจัดไว้อย่างเพียงพอ อีกทั้งยังได้กำชับให้ทำความสะอาดฆ่าเชื้อเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ก่อนนำออกไปปฏิบัติงานด้วย รวมไปถึงการควบคุมให้เว้นระยะห่างในระหว่างปฏิบัติงานตามความเหมาะสมของลักษณะงานแบบ Social Distancing สำหรับการแจ้งเตือนข่าวสารสถานการณ์น้ำ การประชาสัมพันธ์ ได้ขอความร่วมมือให้เกษตรกรใช้น้ำอย่างประหยัดผ่านแอพพลิเคชั่น line หรือ Messenger หรือประชุมผ่าน VDO Conference แทน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าว