“พลังงาน” ถือเป็นอีกภาคส่วนที่สำคัญประการหนึ่ง ซึ่งสามารถขับเคลื่อนโลกเราให้เดินหน้าไป โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ ที่ถึงขั้นปฏิวัติเปลี่ยนโลกได้เลยก็มี อย่างยุคก่อนที่เป็น “พลังงานเครื่องจักรไอน้ำ” ที่ใช้แหล่งความร้อนจากฟืนบ้าง ถ่านหินบ้าง เป็นต้น ในยุคของปฏิวัติอุตสาหกรรม เมื่อกว่าศตวรรษก่อนหน้า เข้าสู่พลังงานน้ำมัน ที่ใช้น้ำมันปิโตรเลียม เป็นพลังงานขับเคลื่อน จนส่งผลให้น้ำมันเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ เมื่อศตวรรษที่แล้ว คาบเกี่ยวลากยาวมาถึงศตวรรษนี้ด้วย โดยความสำคัญของพลังงานปิโตรเลียม ก็ใช้เป็นแหล่งทั้งขุมพลังงานขับเคลื่อนเครื่องจักร ยวดยานพาหนะชนิดต่างๆ และการผลิตกระแสไฟฟ้า รวมถึงเป็นแหล่งระดมเม็ดเงินลงทุน ในฐานะตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ด้านพลังงาน ซึ่งมีตลาดหลายแห่งแทบจะทั่วทุกภูมิภาคของโลกเรา เช่น ตลาดสหรัฐฯ ในฟากทวีปอเมริกาเหนือ ตลาดอังกฤษของฝั่งทวีปยุโรป ตลาดดูไบ ในภูมิภาคตะวันออกกลางและเอเชีย รวมถึงตลาดสิงคโปร์ ในฟากฝ่ายของเอเชีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนกลายดัชนีชี้วัดสถานการณ์เศรษฐกิจโลกประการหนึ่ง กระทั่งอาจกล่าวได้ว่า น้ำมันปิโตรเลียม คือ ราชาแห่งพลังงาน ที่ทรงสมรรถนะขับเศรษฐกิจโลกให้เคลื่อนไปข้างหน้าในช่วงที่ผ่านมาก็มิผิด อย่างไรก็ดี ได้มีการพิจารณาทบทวนถึงขุมพลังงานแห่งใหม่ แทนที่พลังงานน้ำมันปิโตรเลียม ด้วยเหตุผลทั้งเรื่องการประหยัดค่าใช้จ่ายให้มีราคาถูกลง การอนุรักษ์ทางธรรมชาติ คือ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งบรรดาเหตุผลต่างๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นข้อตำหนิ จุดบกพร่อง ของพลังงานน้ำมันปิโตรเลียม คือ ราคาแพง เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป กว่าจะกลับมาหมุนเวียนให้ใช้ใหม่ต้องใช้เวลานานนับล้านปี และไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างปัญหามลภาวะสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะด้าน มลภาวะทางอากาศ เป็นประการต่างๆ อย่างฝุ่นละอองหมอกควัน และภาวะโลกร้อน ที่หลายคนแสดงความวิตกกังวลกัน เป็นอาทิ ทั้งนี้ ปรากฏว่า ได้มีแหล่งพลังงานอื่นๆ ซึ่งถูกเรียกว่า เป็น “พลังงานทดแทน” คือ มาแทนที่พลังงานน้ำมันปิโตรเลียม หรือพลังงานจากซากฟอสซิลหลายแหล่งด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานน้ำมันที่สกัดมาจากพืช เช่น เอทานอล และไบโอดีเซล เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีพลังงานน้ำ พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ โดยพลังงานทดแทนเหล่านี้ ได้รับการวิจัยพัฒนาจากสถาบัน หน่วยงานต่างๆ กันอยู่เป็นระยะๆ เพื่อให้ราคาถูกลง ใช้สอยได้ง่าย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มากขึ้น ผลปรากฏว่า พลังงานจากแสงอาทิตย์ ถูกยกให้เป็นขุมพลังที่น่าจับตามองของมนุษยชาติ ด้วยเหตุผลหลายประการ ทั้งจากเป็นแหล่งพลังงานที่สามารถหมุนเวียนนำกลับมาใช้ได้โดยง่าย เพราะแสงอาทิตย์มีอยู่ทุกวันในช่วงกลางวัน สามารถวิจัยพัฒนาอุปกรณ์ให้มีความสามารถเก็บกักพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ได้ รวมถึงพลังงานแสงอาทิตย์เหล่านี้ ก็ไม่ได้ก่อปัญหามลภาวะให้แก่โลกเรา เพราะเป็นสิ่งที่เปรียบเสมือนของคู่ประจำโลกเรามาแต่ไหน แต่ไร เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว นั่นก็คือ “แสงแดด” นั่นเอง โดยอุปกรณ์ที่ได้รับการวิจัยพัฒนาจากเหล่าบรรดาสถาบัน และหน่วยงานต่างๆ นั้นก็มีชื่อว่า “แผงโฟโตวอลเทอิกสุริยะ (Solar photovoltaic cell)” ความสำคัญของแผงที่ว่านี้ ก็คือ เป็นอุปกรณ์ในกระบวนการผลิตไฟฟ้าจากการตกกระทบของแสงแดด หรือแสงอาทิตย์ บนวัตถุที่มีความสามารถในการเปลี่ยนพลังงานแสง ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า แบบโดยตรง วัสดุที่ใช้ทำเพื่อให้มีความสามารถในเปลี่ยนพลังงานดังกล่าวได้นั้น ก็เป็น “สารกึ่งตัวนำ” เมื่อนำมาผลิตเป็นอุปกรณ์สำหรับเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า เรียกว่า “แผงโฟโตวอลเทอิกสุริยะ (Solar photovoltaic cell)” หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า “แผงเซลล์สุริยะ” หรือที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกกันติดปากว่า “แผงโซลาร์เซลล์” นั่นเอง ทั้งนี้ แผงโซลาร์เซลล์ข้างต้นนั้น ถือเป็นหัวใจ หรืออุปกรณ์สำคัญของการเป็นขุมพลังงานกันเลยทีเดียว ด้วยประการฉะนี้ บรรดาสถาบัน หน่วยงานต่างๆ จึงวิจัยพัฒนาแผงโซลาร์เซลล์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และในขณะเดียวกันก็ให้มีขนาดเล็กลง เพื่อให้สะดวกในการติดตั้งในอุปกรณ์ต่างๆ ต่อไป แบบประหยัดพื้นที่ติดตั้งใช้สอย เช่น การนำไปติดตั้งบนหลังคาบ้าน หรือการนำไปติดตั้งในยานพาหนะต่างๆ ในฐานะยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เช่น รถ เรือ หรือแม้กระทั่งเครื่องบิน เป็นอาทิ แถมมิหนำซ้ำ ยังมีราคาค่าใช้จ่ายถูกลงกว่าเดิม โดยมีรายงานว่า ปัจจุบันแผงโซลาร์เซลล์ ถูกพัฒนาจนมีประสิทธิภาพเมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายแล้วก็อยู่ที่ 6.8 เซนต์ต่อกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง เท่านั้น ลดลงจากเดิมที่ 38 เซนต์ต่อกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง อันเป็นตัวเลขในปี 2010 (พ.ศ. 2553) หรือเมื่อ 10 ปีก่อน เพราะความประหยัดเรื่องค่าใช้จ่าย แต่กลับมีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็ทำให้ปัจจุบันมีผู้คนทั่วโลก นิยมใช้พลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้นคิดเป็นมากกว่าร้อยละ 80 กระทั่ง “ทบวงพลังงานสากล” หรือ “ไออีเอ” ยกให้เป็น “ราชาองค์ใหม่แห่งโลกพลังงาน” กันเลยทีเดียว