ยกให้เป็นหนึ่งใน “ยุคแห่งนวัตกรรม” ประเภทนี้กันโดยแท้ สำหรับ “โดรน” ที่จากเดิมหมายถึง “อากาศยานไร้คนขับ” ชนิดต่างๆ ทั้งด้านการทหาร และกิจการพลเรือน จนนำไปสู่การพัฒนา “ยานพาหนะที่ไร้คนขับ” ชนิดอื่นๆ ที่มิใช่เฉพาะอากาศยานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสารพัดยานพาหนะอีกต่างหากด้วย อาทิ “รถยนต์ไร้คนขับ” เพราะใช้อุปกรณ์ควบคุมบังคับระยะไกล จนขับเคลื่อนแบบอัตโนมัติ หรือตัวเอง ดังที่บรรดาธุรกิจด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยีหลายแห่ง พยายามแข่งขันยนตรกรรมชนิดนี้ เช่น กูเกิล เว็บไซต์เสิร์ชเอนจินชื่อดัง เคยวิจัยพัฒนา เป็นต้น ล่าสุด ก็เป็น “เรือ” พาหนะทางน้ำ ก็ถูกนำไปสู่การประดิษฐ์คิดค้น และพัฒนา จนมาเป็น “เรือโดรน” หรือ “โดรนเรือ” ตามแต่จะเรียกกัน ที่สามารถขับเคลื่อนแล่นไปบนพื้นผิวน้ำได้เอง ด้วยการบังคับคุมระยะไกล เฉกเช่น โดรนอากาศยาน และโดรนรถยนต์ หรือรถยนต์ไร้คนขับ โดย “โดรนนาวา” เรือไร้คนขับข้างต้น ก็เป็นผลงานการรังสรรค์ของทีมงานวิจัยพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ “เอไอ (AI : Artificial Intelligence)” ของ “ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และห้องปฏิบัติการปัญญาประดิษฐ์” หรือที่มักเรียกย่อๆ ว่า “ซีเอสเอไอแอล (CSAIL : Computer Science & Artificial Intelligence Laboratory) แห่ง “สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์” หรือ “เอ็มไอที (MIT : Massachusetts Institute of Technology) ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ร่วมกับคณะนักวิจัยพัฒนาจากห้องปฏิบัติการเซนส์เอเบิลซิตีแล็บของสถาบันเอ็มไอทีเช่นกัน ทาง “ซีเอสเอไอแอล” ได้นำคำสองคำ คือ “หุ่นยนต์ (Robot)” กับ “เรือ (boat)” มารวมกัน จึงกลายเป็น “หุ่นยนต์เรือ (Roboat)” อันเป็นพื้นฐานทางความคิดในการวิจัยพัฒนา ผสมผสานระหว่าง “หุ่นยนต์” กับ “เรือ” รวมเป็น “หุ่นยนต์เรือ” ขึ้น มีระบบการทำงานเหมือนเป็นหุ่นยนต์ตัวหนึ่ง การควบคุมบังคับสามารถทำได้แม้อยู่ห่างกันระยะไกล และเมื่อเป็นหุ่นยนต์เรือ ก็จะเคลื่อนที่ไปบนพื้นผิวน้ำ ผ่านระบบการทำงานแบบควบคุมระยะไกลได้ ราวกับขับเคลื่อนได้โดยอัตโนมัติ ทั้งนี้ หุ่นยนต์เรือรุ่นล่าสุดนี้ ก็เป็นรุ่นที่สองแล้ว เลยมีชื่อเรียกว่า “โรโบททู (Roboat II)” หลังทาง “ซีเอสเอไอแอล” ดำเนินโครงการวิจัยพัฒนามาตั้งแต่ปี 2016 (พ.ศ. 2559) หรือเมื่อ 4 ปีมาแล้ว สมรรถนะของ “โรโบททู” รุ่นนี้ ถูกพัฒนาขึ้นจนสามารถใช้บรรทุกขนส่งสินค้า หรือลำเลียงสิ่งของที่ไม่มากเกินไปนัก รวมถึงลำเลียงคน ในฐานะผู้โดยสาร ด้วยขนาดของ “โรโบททู” ที่มีขนาดความ 2 เมตร กว้าง 1 เมตร ขนาดน้ำหนักของเรือราว 80 กิโลกรัม รองรับผู้โดยสารได้ 2 – 3 คน การขับเคลื่อนก็ใช้ใบพัดจำนวน 4 ใบพัดด้วยกัน พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับการเคลื่อนที่ได้อย่างอัตโนมัติครบครับ ได้แก่ ชุดกล้อง อุปกรณ์เซ็นเซอร์เพื่อการตรวจจับต่างๆ ระบบเรดาร์แบบลิดาร์ (LiDar) ที่ใช้ระบบแสงเลเซอร์ สำหรับการจัดทำแผนที่สภาพโดยรอบ และวัดระยะทาง ส่วนการเรียนรู้และประมวลผลข้อมูลด้วยตัวเอง ก็ใช้ระบบแมชชีน-เลิร์นนิง (Machine-Learning) เหมือนกับรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติก็ใช้ระบบนี้ โดยทางเอ็มไอที สถาบันอุดมศึกษาต้นสังกัดคณะนักวิจัยดังกล่าว ได้นำ “โรโบททู” ไปทดสอบประสิทธิภาพสมรรถนะ ที่แม่น้ำอัมสเตล หรืออัมสเติล ซึ่งแม่น้ำย่านใจกลางกรุงอัมสเตอร์ดัม เมืองหลวงของเนเธอร์แลนด์ และมีคู คลอง สาขาต่างๆ แตกแขนงออกไป ผลการทดสอบประสิทธิภาพสมรรถนะ ก็ประสบความสำเร็จด้วยดี โดย “โรโบททู” สามารถแล่นฉิวเหนือท้องน้ำลำแม่อัมสเตล ตลอดจนคูคลองรอบกรุงอัมสเตอร์ดัม ไปตามระยะทางที่กำหนดได้อย่างแม่นยำ ตลอดระยะเวลาของการทดสอบ 3 ชั่วโมงด้วยกัน นอกจากนี้ “โรโบททู” ยังสามารถเชื่อมต่อการสื่อสารกับ “โรโบททู” ลำอื่นๆ สำหรับการเคลื่อนที่ไปพร้อมๆ กัน โดยไม่อ้างว้างเดียวดายสำหรับการเดินทางอีกต่างหาก ท่ามกลางการรายงานว่า ได้รับความสนใจแก่ประชาชีชาวเมืองกังหัน อันเป็นนิกเนมของประเทศเนเธอร์แลนด์หาน้อยไม่ ใช่แต่เท่านั้น ทางสถาบันเอ็มไอที ก็ดำเนินการวิจัยพัฒนาต่อยอดเรือหุ่นยนต์รุ่นใหม่โดยทันที นั่นคือ “โรโบททรี” อันเป็นรุ่นที่ 3 ซึ่งทางสถาบันฯ ระบุว่า โดรนเรือรุ่นใหม่ที่กำลังพัฒนานี้ ก็จะมีขนาดความยาวมากขึ้น คือ4 เมตร เพื่อให้บรรทุกได้มาก ตั้งว่าสามารถลำเลียงผู้โดยสารให้ได้ถึง 6 คน และมีระบบการตรวจจับสิ่งกีดขวางได้ดีขึ้น โดยจะทดสอบประสิทธิภาพกับเส้นทางเดินเรือที่พลุกพล่านมากกว่านี้ให้ได้ ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงโดรนเรือแล้ว ก่อนหน้านี้ทาง “โปรแมร์” บริษัทวิจัยทางทะเล ในเครือของ “ไอบีเอ็ม” บริษัทด้านไอทีชื่อดัง ได้วิจัยพัฒนา “เรือสำรวจมหาสมุทรแบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ” กันมาแล้ว ซึ่งถือเป็นการวิจัยพัฒนาเรือขับเคลื่อนอัตโนมัติขนาดใหญ่ มีชื่อว่า “เมย์ฟลาวเวอร์ (Mayflower)” โดยได้เปิดตัวเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา แต่จะดำเนินภารกิจล่องเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก ในช่วงเดือน เม.ย. 2021 (พ.ศ. 2564) นี้ เป็นการล่องเรือโดยที่ไม่มีกัปตัน หรือลูกเรือ อยู่บนเรือแม้แต่คนเดียว หากสำเร็จก็จะถือว่าสร้างประวัติศาสตร์ เพราะเป็นครั้งแรกของโลก นั่นเอง