มกอช. เดินหน้าอบรบเครือข่าย Q อาสา ในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่/ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) พัฒนายกระดับสู่ที่ปรึกษา-ผู้ตรวจประเมินเกษตรกร ด้านมาตรฐาน GAP พืชอาหาร ลุยขับเคลื่อนการผลิตพืชอาหารปลอดภัย นายครรชิต สุขเสถียร รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า มกอช. ในฐานะหน่วยงานด้านการมาตรฐานสินค้าเกษตร ที่ต้องการส่งเสริมผลักดันการนำมาตรฐานไปใช้ ครอบคลุมทั้งสินค้าพืช ประมง และปศุสัตว์ ตลอดกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ แต่เนื่องด้วย มกอช. ไม่มีหน่วยงานในระดับภูมิภาค จึงทำให้เกิดช่องว่างในการถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารระหว่างเจ้าหน้าที่ มกอช. กับผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จึงได้กำหนดให้มีโครงการ Q อาสา ขึ้น เพื่อสร้างบุคลากรที่เป็นเสมือนตัวแทนของ มกอช. เป็นที่ปรึกษาด้านมาตรฐานสินค้าเกษตร มีความสามารถในการตรวจประเมินเบื้องต้น (Pre auditor) และให้คำปรึกษาแก่เกษตรกรเพื่อปรับเปลี่ยนการปฏิบัติให้สอดคล้องตามเกณฑ์ของมาตรฐานสินค้าเกษตร ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559-2563 มกอช. ได้มีการฝึกอบรมสร้างอาสาสมัครเกษตรสาขา Q อาสา ไปแล้วในพื้นที่ 14 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สระแก้ว พัทลุง กำแพงเพชร ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา นครนายก ลำพูน เชียงใหม่ ลำปาง นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันมี Q อาสา ซึ่งสามารถทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัด อำเภอ และเจ้าหน้าที่ของ มกอช. จำนวนทั้งสิ้น 314 คน สำหรับปีงบประมาณ 2564 ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการสร้าง Q อาสา ให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ จึงได้กำหนดจัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ Q อาสา ด้านมาตรฐาน GAP พืชอาหาร ภายใต้โครงการ Q อาสา โดยกลุ่มเป้าหมายได้แก่ ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และเครือข่าย ผู้นำกลุ่มเกษตรกร และเกษตรกรผู้ปลูกผัก/ผลไม้ในพื้นที่โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ที่มีจิตอาสาและมีความสนใจในการเป็น Q อาสา ได้แก่ จังหวัดชัยนาท นครสวรรค์ ชัยภูมิ ระยอง เชียงราย จำนวน 4 รุ่นๆ ละ 50 คน รวม 200 คน ดังนั้นเมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2564 คาดว่าจะมีจำนวน Q อาสา รวมทั้งสิ้น 514 คน “Q อาสา ที่ผ่านมาอบรม ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการผลิตพืชอาหารปลอดภัยร่วมกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกรที่ยื่นขอการรับรอง GAP พืชอาหาร ตลอดจนช่วยให้หน่วยตรวจรับรองสามารถตรวจประเมินเพื่อให้การรับรองได้รวดเร็วยิ่งขึ้น”รองเลขาธิการ มกอช. กล่าว