รมช.คมนาคมเยี่ยมท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ แนะเตรียมความพร้อมระบบธุรกรรมระหว่างประเทศด้านการตลาด -พัฒนาบุคลากร – ระบบบริหารจัดการที่ทันสมัย และเชื่อมโยงกับระบบอื่น ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะ ตรวจเยี่ยมพื้นที่ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ - กองทัพเรือ (บริเวณท่าเรือจุกเสม็ด) เมื่อวันที่ 5ส.ค.2560 ที่ผ่านมาโดยมี พลเรือตรี นฤพล เกิดนาค ผู้อำนวยการการท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ นายภิมุข ประยูรพรหม ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 6 และเจ้าหน้าที่กรมเจ้าสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาพัทยา ให้การต้อนรับ ณ ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ - กองทัพเรือ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมว่า การดำเนินการของท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ - กองทัพเรือ ซึ่งมีพื้นที่ประกอบการบริเวณท่าเรือจุกเสม็ด ให้บริการเป็นท่าเทียบเรือ จำนวน 6 ท่า และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ มีแผนงานในการพัฒนาท่าเรือพาณิชย์ฯ ให้มีศักยภาพและประสิทธิภาพ ประกอบด้วยโครงการต่าง ๆ ดังนี้ 1.โครงการศึกษา สำรวจ และออกแบบวางผังการใช้ประโยชน์พื้นที่ทั้งด้านความมั่นคงและด้านการส่งเสริมโครงการการขนส่งของภาครัฐ ,2.โครงการก่อสร้างท่าเรือเฟอร์รี่ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก โดยดำเนินการปรับปรุงท่าเทียบเรือหมายเลข 6 ท่าเรือจุกเสม็ด เป็นสะพานท่าเทียบเรือกว้าง 13 เมตร ยาว 75 เมตร จำนวน 2 สะพาน ซึ่งแต่ละสะพานสามารถเทียบเรือได้ทั้ง 2 ด้าน 3.โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารสำหรับเรือเฟอร์รี่ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก จำนวน 1 อาคาร มีพื้นที่โครงการประมาณ 20,000 ตารางเมตร ,4.โครงการปรับปรุงร่องน้ำและบริเวณพื้นที่จอดเรือ ท่าเรือจุกเสม็ด เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการรองรับเรือขนาดใหญ่ของท่าเรือพาณิชย์ฯ ,5.โครงการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นบริเวณเกาะจระเข้ เพื่อรองรับการให้บริการเรือสินค้าขนาดใหญ่ให้สามารถเข้า - ออกเทียบท่าเทียบเรือน้ำมัน (ท่า POL) ได้ และลดปัญหาคลื่นลมและน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งและท่าเรือ 6.โครงการปรับปรุงท่าเทียบเรือน้ำมัน (ท่า POL) เป็นท่าเรือเอนกประสงค์ สามารถรองรับเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่ (Cruise) ,7.โครงการพัฒนาพื้นที่ธุรกิจและบริการเชื่อมต่อพื้นที่ท่าเทียบเรือเฟอร์รี่และท่าเทียบเรือเอนกประสงค์ เพื่อสนับสนุนการให้บริการเชิงพาณิชย์ และรองรับนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของรัฐบาล ,8.โครงการปรับปรุงพื้นที่ให้บริการรองรับ MULTIMODAL เพื่อให้เชื่อมโยงกับทุกระบบการขนส่ง ทั้งทางถนน ทางราง และอากาศ เพื่อรองรับการเป็น LOGISTICS HUB ในภาคตะวันออก และ 9.โครงการจัดหาเครื่องมือและเครื่องทุ่นแรงสำหรับกระจายสินค้า นายพิชิต กล่าวว่า นอกจากนี้ยังได้เยี่ยมชมท่าเรือพาณิชย์ฯ ซึ่งมีศักยภาพในการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวด้วยเรือเฟอร์รี่ และเรือสำราญขนาดใหญ่ สามารถรองรับการขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือพาณิชย์ฯ และท่าเรือชายฝั่งอื่น ๆ ทั้งในประเทศและภูมิภาค อีกทั้งเชื่อมโยงกับระบบการขนส่งทางรางโครงการรถไฟความเร็วสูง ท่าอากาศยานอู่ตะเภา และรองรับโครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ของรัฐบาล ทั้งนี้ได้ให้ข้อเสนอแนะการบริหารท่าเรือพาณิชย์ฯ ในอนาคต เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมการทำธุรกรรมระหว่างประเทศทางด้านการตลาด การพัฒนาบุคลากร รวมทั้งวางระบบบริหารการจัดการที่ทันสมัยและเชื่อมโยงกับระบบอื่น ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ